คปภ. ร่วมภาคธุรกิจพัฒนากรมธรรม์ที่อยู่อาศัยคุ้มครองภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Monday March 16, 2015 14:04 —คปภ.

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มการเกิดภัยธรรมชาติมีมากขึ้นและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย พัฒนารูปแบบกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย (แบบใหม่) ที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติทั่วไปและภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติครอบคลุมมากขึ้น

ปัจจุบันสภาพการณ์ตลาดของการทำประกันภัยธรรมชาติทั่วไปและภัยพิบัติเริ่มผ่อนคลาย และกลับเข้าสู่สภาวะปกติเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถรับความเสี่ยงภัยไว้เองได้มากขึ้น สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย (แบบใหม่) ให้ความคุ้มครองรวม 10 ภัย ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ และความคุ้มครองภัยธรรมชาติ (ภัยธรรมชาติทั่วไปและภัยพิบัติ) คือ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ และภัยลูกเห็บ โดยภัยธรรมชาติทั้ง 4 ภัยนี้ จะให้คุ้มครองในวงเงิน 20,000 บาท ด้วยเบี้ยประกันภัยเพียง 100 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี โดยชดใช้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า นอกจากกรมธรรม์ดังกล่าวข้างต้น ประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมก็สามารถซื้อได้ โดยยังมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยและภัยพิบัติ ที่ให้ความคุ้มครองภัยพิบัติวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เบี้ยประกันภัย 0.5% ต่อปี ให้ความคุ้มครองภัยหลัก 6 ภัย และภัยพิบัติ 3 ภัย คือ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ และกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) อัตราเบี้ยประกันภัย 500 บาท คุ้มครองตามความเสียหายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ให้ความคุ้มครอง 3 ภัย ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า และระเบิด และยังขยายความคุ้มครองค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว 300 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 30 วัน) ประชาชนสามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยได้ตามความเหมาะสมโดยขอให้พิจารณาจากพื้นที่ตั้งและลักษณะที่อยู่อาศัยของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งความสามารถในการชำระค่าเบี้ยประกันภัยตามรูปแบบกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าวข้างต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 และเว็บไซต์ www.oic.or.th

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ