นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยว่าพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย/ชีวิต (ฉบับที่ 3) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 6 มีนาคม 2558 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดโครงสร้างผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัทประกันภัยให้เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัท และความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย
2. คงระดับการถือหุ้นในบริษัทประกันภัยของบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยไว้ 3 ระดับเช่นเดิม คือ
1) กรณีทั่วไป บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นในบริษัทประกันภัยได้ ไม่เกินร้อยละ 25 (มีกรรมการที่เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ไม่เกินหนึ่งในสี่)
2) กรณีมีเหตุสมควร คณะกรรมการ คปภ. อาจอนุญาตให้บริษัทประกันภัยมีบุคคลซึ่ง ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 49 (มีกรรมการที่เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเกินหนึ่งในสี่ แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)
3) กรณีบริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน และให้ขยายรวมไปถึงกรณีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของบริษัท หรือเพื่อความมั่นคงของธุรกิจประกันภัยด้วย รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ คปภ. มีอำนาจผ่อนผันให้บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นในบริษัทประกันภัยเกินร้อยละ 49 ได้ (กรรมการที่เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด)
3. กำหนดขั้นตอนให้กองทุนประกันชีวิต/วินาศภัย (กองทุนฯ) ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับ ชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย เมื่อบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย/ชีวิต ได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดกระบวนการล้มละลาย
4. ให้กองทุนฯ มีอำนาจในการกู้ยืมเงิน ออกตั๋วเงิน หรือตราสารทางการเงินอื่น เพื่อนำเงินมา ช่วยเหลือเจ้าหนี้ดังกล่าว เมื่อกองทุนฯ มีเงินไม่เพียงพอ และเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน ออกตั๋วเงิน หรือตราสารทางการเงินอื่นของกองทุน โดยต้องได้รับ ความเห็นชอบจากคณะกรรมการ คปภ.
5. เพิ่มหน้าที่ของกองทุนประกันชีวิต/วินาศภัยในการเป็นผู้ชำระบัญชีได้ ตามที่คณะกรรมการ คปภ. แต่งตั้ง
6. ให้กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ที่ปรึกษาและพนักงานของบริษัทมีหน้าที่ส่งมอบบัญชีและเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งหมดให้แก่ผู้ชำระบัญชีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่บริษัทถูก เพิกถอนใบอนุญาต เพื่อความรวดเร็วในการรวบรวมทรัพย์สินของบริษัท และกำหนดบทลงโทษบุคคลดังกล่าวหากไม่ปฏิบัติตาม
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ในส่วนของกองทุนฯ นั้น จะมีแนวทางการดำเนินงานที่ต่างกัน 2 กรณี คือ 1 กรณีที่บริษัทอยู่ระหว่างการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีจะเฉลี่ยหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่ได้รับจากนายทะเบียนมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยที่ได้ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี เฉพาะเจ้าหนี้ที่ไม่มีข้อโต้แย้ง และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าหนี้ดังกล่าวให้กองทุนฯ เพื่อดำเนินการจ่ายมูลหนี้ที่เหลือให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย กรณีที่ 2 ในกรณีที่บริษัทอยู่ระหว่างกระบวนการล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะดำเนินการเหมือนกับผู้ชำระบัญชีในกรณีแรก สำหรับเจ้าหนี้ที่ได้มายื่นขอรับชำระหนี้ตามกระบวนการล้มละลาย และเมื่อกองทุนฯ ได้รับแจ้งแล้ว จึงดำเนินการจ่ายมูลหนี้ที่เหลือให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยต่อไป ซึ่งทั้งสองกรณีกฎหมายกำหนดให้กองทุนฯ จ่ายตามมูลหนี้ ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. กำหนดจัดงานสัมมนาทำความเข้าใจหลักการ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ และรวมไปถึงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยที่ได้มีการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้ภาคธุรกิจและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับทราบหลักการและเหตุผลของกฎหมาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ในวันที่ 30 มีนาคม 2558 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพ
ที่มา: http://www.oic.or.th