สำนักงาน คปภ. ได้ประสานกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดลำปาง เบื้องต้น ทราบว่ารถโดยสารคันดังกล่าว มีประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ดังนี้
1. ผู้ประสบภัยเสียชีวิต ทายาทสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
1.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 200,000 บาทต่อคน สำหรับ ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายจะได้รับเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้น
1.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) กรณีไม่มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน หรือกรณีมีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อคน
1.3 ความคุ้มครองจากการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) สำหรับผู้ขับขี่ 100,000 บาท และผู้โดยสาร 32 คนๆ ละ 100,000 บาท
2. ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
2.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน และค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้ประสบภัยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน
2.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และจะได้เร่งประสานบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้เสียชีวิตโดยเร็ว และประสานโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้บาดเจ็บเพื่ออำนวยความสะดวกด้านค่ารักษาพยาบาล ในเบื้องต้นทราบว่าบริษัทประกันภัยได้ติดต่อทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. ขอฝากเตือนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ และผู้ใช้รถใช้ถนน ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันภัย ตรวจสอบวันหมดอายุการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และหากต้องการความคุ้มครองสูงขึ้นสามารถซื้อประกันภัยรถภาคสมัครใจเพิ่มเติมได้ จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าระบบประกันภัยสามารถรองรับหรือบรรเทาความเดือนร้อนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้. หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบประกันภัย โทรสายด่วนประกันภัย 1186 และเว็บไซต์ www.oic.or.th
ที่มา: http://www.oic.or.th