ศาลอาญาพิพากษาจำเลยคดี Big insure มีความผิด ให้จำคุก-คืนเงินผู้เสียหาย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 5, 2015 13:50 —คปภ.

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เผยว่า วานนี้ ศาลอาญารัชดา ได้มีคำพิพากษาในคดี Big insure โดยมีคำสั่งให้จำเลย คือ นางสาววรรเพ็ญ เลี่ยนเล็ก มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา ฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 โดยตัดสินจำคุกจำเลย พร้อมกับให้คืนเงินแก่ผู้เสียหาย

ทั้งนี้ ศาลพิพากษา โดยระบุว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป โดยความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษจำคุก 3 ปี และความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 6 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ และลดโทษ จึงเหลือจำคุกรวม 1 ปี 9 เดือน และไม่มีเหตุรอการลงโทษจำคุกให้กับจำเลย นอกจากนี้ ยังให้จำเลยคืนเงิน จำนวน 871,484 บาท ให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 52 รายด้วย

“คปภ.เชื่อว่าคดีนี้จะเป็นอุทธาหรณ์ สำหรับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพธุรกิจประกัน และผู้ที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพนี้ ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้เอาประกัน ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมาย ขณะเดียวกัน ก็เป็นการช่วยเตือนประชาชนที่จะทำประกัน ให้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อประกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายเหมือนกรณีนี้” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

นายประเวช กล่าวว่า คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชน มีความห่วงใย จึงขอแนะนำให้ประชาชน ตรวจสอบชื่อ นามสกุล เลขที่ใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย พร้อมชื่อบริษัทที่รับทำประกันภัย ศึกษาข้อมูล เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้ตรงกับความต้องการที่จะซื้อ รวมถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย และให้เรียกใบเสร็จรับเงิน หรือเอกสารแสดงการรับเงินที่ถูกต้องทุกครั้ง

เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า สำหรับพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย กำหนดบทลงโทษการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย ของบริษัทประกันวินาศภัย ตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย เช่น กรณีการขายประกันโดยไม่มีใบอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีตัวแทน นายหน้าไม่ออกเอกสารรับเงินให้ผู้เอาประกัน หรือไม่ส่งเบี้ยเข้าบริษัทประกันภัย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ