นางสาววราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตใหม่ๆ ที่ตอบสนองตามความต้องการของประชาชนผู้เอาประกันภัย ทั้งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบระยะสั้น และแบบระยะยาว เช่น แบบตลอดชีพ และแบบบำนาญ ซึ่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองภัยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรได้สูงสุดถึง 100,000 บาท โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นจะต้องมีเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมที่จ่ายในแต่ละช่วงเวลานั้น (ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการชำระเบี้ยประกันชีวิต หรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์) และเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์แบบบำนาญ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มจากเบี้ยประกันชีวิตแบบอื่นๆ ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า การประกันชีวิตเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัว การซื้อประกันชีวิตจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะให้ความคุ้มครองแล้ว ยังสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนภาษีได้ ส่วนกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ หากผู้เอาประกันภัยมีอายุยืนยาวเข้าสู่วัยสูงอายุ จะมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นแบบรายเดือนหรือรายปีจนกว่าผู้เอาประกันภัยจะเสียชีวิต หรือระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น หากประชาชนที่กำลังจะตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ขอให้ศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง ความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย และรายละเอียดข้อยกเว้นให้เข้าใจก่อนตัดสินใจทำประกัน เพื่อให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตนเองได้มากที่สุด หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.oic.or.th