คปภ. ติวเข้มการระงับข้อพิพาทประกันภัยด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ

ข่าวทั่วไป Thursday November 26, 2015 14:24 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานเปิด งานสัมมนา เรื่อง การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์คว่า สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัย โดยสำนักงานคปภ. ได้จัดให้มีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้เอาประกันภัยที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย โดยมีการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีประนีประนอมข้อพิพาทด้วย แต่หากข้อพิพาทเกี่ยวกับประกันภัยบางเรื่องมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ก็จะนำกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้ ซึ่งได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากสำนักงานศาลยุติธรรมในการช่วยแนะนำและวางระบบอนุญาโตตุลาการให้ สืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็ได้มีความร่วมมือกันอย่างดียิ่ง โดยสำนักงานคปภ.และสำนักงานศาลยุติธรรม เห็นพ้องต้องกันที่จะมีการขยายกรอบความร่วมมือทางวิชาการเพื่อให้การระงับข้อพิพาททางเลือกด้านการประกันภัยด้วยวิธuอนุญาโตตุลา การมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการนำเอากระบวนการอนุญาโตตุลาการมาใช้ ตั้งแต่ปี 2541 ปรากฎว่ามีประชาชนผู้เอาประกันภัยที่มีปัญหาข้อโต้แย้งจากสัญญาประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงของการเกิดภัย จำนวนความเสียหาย หรือเงื่อนไขความคุ้มครองต่าง ๆ ที่ไม่อาจตกลงกับบริษัทประกันภัย โดยมีการยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้มีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ จำนวน 2,531 เรื่อง มีทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง จำนวน 16,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าประชาชน ผู้เอาประกันภัยให้ความสนใจใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ และส่งผลให้ปริมาณคดีข้อพิพาทประกันภัยที่ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมลดลง

เลขาธิการคปภ. กล่าวด้วยว่า กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สำนักงาน คปภ. นำมาใช้นั้นเป็นประโยชน์และให้ความเป็นธรรมแก่คู่พิพาทเป็นอย่างดี แต่ในการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้น ผู้แทนของคู่พิพาททั้งสองฝ่ายก็นับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการที่จะรักษาสิทธิประโยชน์ของฝ่ายตนตามที่พึงมีโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนคู่พิพาท จึงมีความจำเป็นที่บุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนคู่พิพาท จะต้องมีความรู้และเข้าใจถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นอย่างดีด้วยและที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต รวมทั้งมีแนวทางปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนคู่พิพาทอีกด้วย

“ขณะนี้สำนักงานคปภ.ให้ความสำคัญกับข้อพิพาทต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัย จะต้องได้รับความเป็นธรรม อย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยเกิดความเชื่อมั่นได้ว่าเมื่อซื้อประกันภัยไปแล้วจะต้องได้รับการคุ้มครองตามเงื่อนไขต่างๆที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อย่างแท้จริง”

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ