“สุทธิพล” ดีเดย์ถกสมาคมประกันชีวิตไทย ปลดชนวนปัญหา“ประกันผู้สูงอายุ” อย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 8, 2015 14:19 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงการติดตามกรณีที่ปรากฎในสื่อโซเชียลว่ามีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาขายประกันชีวิตผู้สูงอายุ ไม่เป็นไปตามโฆษณา ซึ่งเรื่องนี้ คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจและเร่งติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจได้ว่า คปภ. พร้อมดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยด้วยความเป็นธรรม อย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงขอชี้แจงเบื้องต้นเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ว่า การทำประกันชีวิต ก็คือ การที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายผลประโยชน์ตามที่ระบุในสัญญา เนื่องจากการเสียชีวิตทุกกรณีหรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนด หากจะเปรียบเทียบการประกันชีวิตแบบทั่วไปกับการประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ การประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้น อายุที่เริ่มทำประกันชีวิต สามารถทำได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งการพิจารณารับประกันภัย มีทั้งแบบตรวจสุขภาพและไม่ตรวจสุขภาพ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันภัยและแบบประกันชีวิตที่เลือกซื้อ ดังนั้นการให้ข้อมูลในใบคำขอเอาประกันชีวิตนั้น ผู้ขอเอาประกันภัยจะต้องแถลงข้อเท็จจริง กรณีผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อเท็จจริงในใบคำขอเอาประกันชีวิต หากบริษัทประกันชีวิตได้ทราบก็จะพิจารณาไม่รับประกันภัย หรือ รับประกันภัย โดยมีอัตราเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น บริษัทสามารถบอกเลิกและปฏิเสธการรับประกันชีวิต ได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มต้นความคุ้มครอง ตามสิทธิโต้แย้ง ส่วนกรณีเสียชีวิต บริษัทจ่ายผลประโยชน์ตามระบุไว้ในสัญญา ไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัย ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับแบบของการประกันชีวิตที่เลือกซื้อ

สำหรับการประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุนั้น กำหนดอายุที่เริ่มทำประกันชีวิตต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป การพิจารณา รับประกันภัยเป็นแบบไม่ตรวจสุขภาพ การันตีการรับประกันชีวิต จำนวนเงินเอาประกันภัย สูงสุดไม่เกิน 000,600 บาท ซึ่งการให้ข้อมูลในใบคำขอเอาประกันชีวิต ไม่มีคำถามสุขภาพในใบคำขอ จึงไม่ต้องแถลงสุขภาพ ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงไม่สามารถบอกเลิกและปฏิเสธการรับประกันชีวิตตามสิทธิโต้แย้งได้ ส่วนกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ในช่วง 2 ปีแรก บริษัทจ่ายเบี้ยประกันภัยที่ชำระไปแล้วบวกด้วยเงินเพิ่มเติม (ร้อยละ 2-5 ของเบี้ยที่ชำระมาแล้ว) แต่หากเป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัทจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย และกรณีการเสียชีวิตตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไปทุกกรณีจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว สำนักงาน คปภ.ได้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนทั้งระบบให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ตามไปแก้ปัญหาเป็นกรณีๆไป ซึ่งในเบื้องต้นได้ประสานงานไปยังบริษัทประกันชีวิตที่ถูกพาดพิง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆและไขข้อข้องใจของประชาชน ในขณะเดียวกัน คปภ.ก็ดำเนินการแบบคู่ขนาน ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และจัดทีมผู้เชี่ยวชาญเดินสายชี้แจงผ่านสื่อมวลชนในช่องทางต่างๆอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมภาพยนตร์โฆษณาที่ถูกประชาชนร้องเรียน เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่มีการร้องเรียนหรือไม่ โดยคปภ. มีมาตรการเข้มงวดในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านสื่อโฆษณา ด้วยการออกประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556 ซึ่งบริษัทและนายหน้าประกันชีวิตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จ หรือเกินความจริงมีความชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่กำกวม และต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย

ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะเร่งเชิญสมาคมประกันชีวิตไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการโฆษณาเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านสื่อโทรทัศน์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมจะกำชับให้บริษัทประกันชีวิตดูแลผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะเสนอขาย กำกับตัวแทน นายหน้าประกันชีวิตให้เสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตตามหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขาย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้เอาประกันจะต้องพิจารณาก่อนทำประกันก็คือจะต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไข ความคุ้มครอง และข้อยกเว้นให้เข้าใจ และเมื่อได้รับกรมธรรม์แล้ว ต้องตรวจสอบ เงื่อนไขในกรมธรรม์ ว่าตรงกับความต้องการหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อตกลง สามารถยกเลิกได้ภายใน 15 หรือ 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์

“หลักสำคัญในการซื้อประกันชีวิต ควรซื้อกับตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิตที่ได้รับใบอนุญาตจาก นายทะเบียน แถลงข้อความจริงในใบคำขอเอาประกันชีวิต ศึกษารายละเอียดเงื่อนไข ความคุ้มครอง และข้อยกเว้น ให้เข้าใจ เมื่อได้รับกรมธรรม์แล้ว ต้องตรวจสอบ เงื่อนไขในกรมธรรม์ว่าตรงกับความต้องการหรือไม่ ในการจ่ายเงิน ทุกครั้งให้เรียกเอกสารการรับเงินของบริษัทประกันชีวิต เพื่อที่ท่านจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขในสัญญาประกันชีวิต ซึ่งหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนคปภ.1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ