"สุทธิพล”ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกเดินหน้าผลักดัน กฎหมายประกันภัยทางทะเลฉบับแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Friday December 18, 2015 14:32 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับมาตรฐานการประกันภัยไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความจำเป็นในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัย ทางทะเล พ.ศ. ... โดยมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธานและมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันภัยทางทะเลทั้งภายในและภายนอกองค์กรร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งมีผู้แทนจากกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการด้วย ซึ่งได้มีการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 โดยที่ประชุมมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยควรมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประกันภัยทางทะเล ส่งผลดีต่อการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยทางทะเลในการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยทั้งภายในและนอกประเทศ

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นตรงกันว่ากฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทยที่จะมีการยกร่างขึ้นนั้น ควรบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายฉบับใหม่โดยเฉพาะแยกต่างหากจากพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายประกันภัยทางทะเลมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการประกันวินาศภัยทั่วไป รวมทั้งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 868 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยทางทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทางทะเล” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลแยกต่างหากจากกฎหมายประกันภัยทั่วไป โดยหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งทางทะเลและการเดินเรือมากกว่าหลักกฎหมายประกันภัยทั่วไป ประกอบกับในปัจจุบันเมื่อมีกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเล ศาลยุติธรรมไทยต้องอุดช่องว่างของกฎหมายตามมาตรา 4 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนำพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล ค.ศ.1906 ของประเทศอังกฤษในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเลที่ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าแนวทางดังกล่าวถูกต้องและทำให้ผลของคำพิพากษาสอดคล้องกับแนวปฎิบัติสากล แต่หลักกฎหมายอังกฤษไม่ถือว่าเป็นข้อกฎหมายที่ศาลจะรู้เองและสามารถหยิบยกขึ้นมาปรับใช้ได้เสมอเช่นเดียวกับหลักกฎหมายทั่วไป

ซึ่งอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่คู่กรณี ดังนั้นจึงสมควรที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล ที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลเพื่อบังคับใช้เป็นการเฉพาะต่อไป

โดยแนวทางในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวที่ประชุมฯ เห็นควรให้ใช้แนวทางกฎหมายประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 และกฎหมายประกันภัยทางทะเล 2015 ของประเทศอังกฤษที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ แต่ควรดูให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางสากลในปัจจุบันและบริบทของไทยด้วย

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า เนื่องจากสำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับประกันภัยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติแบบกรมธรรม์ การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย การคุ้มครองผู้เอาประกันภัย ฯลฯ ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่า สำนักงาน คปภ. ควรเป็นเจ้าภาพในการยกร่างกฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทย แต่เนื่องจากแนวคิดที่จะยกร่างกฎหมายประกันภัยทางทะเลมีมาตั้งแต่ปี 2545 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชย์นาวี (ในขณะนั้น) ได้ริเริมที่จะพัฒนากฎหมายดังกล่าว ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชย์นาวีถูกยุบไป กรมเจ้าท่าจึงรับช่วงภารกิจมา โดยตั้งคณะทำงานยกร่างฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธาน และได้มีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนากฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นไปในเชิงรุกและไม่ซ้ำซ้อนกัน ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยสำนักงาน คปภ. รับเป็นเจ้าภาพและให้มีการหารือกับกรมเจ้าท่าเพื่อจะได้บูรณาการทำงานให้เป็นเอกภาพ ซึ่งมีข้อเสนอให้กรมเจ้าท่าเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะทำงานดังกล่าวเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

“ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรปฏิรูปกฎหมายประกันภัยและกฎหมายและกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ โดยผลักดันให้มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลบังคับใช้เป็นของตัวเอง จึงอยากให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดกฎหมายประกันภัยทางทะเลโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีอย่างมากต่อธุรกิจประกันภัย ธุรกิจการขนส่งและระบบการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยในภาพรวม ทั้งยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยอีกด้วย” ดร.สุทธิพล กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ