คปภ. บูรณาการความร่วมมือกับสมาคมประกันชีวิตไทย ลุยแก้ปัญหาประกันชีวิตผู้สูงอายุเป็นระบบแบบครบวงจร

ข่าวทั่วไป Saturday December 19, 2015 14:34 —คปภ.

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุเป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มุ่งเน้นเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่มผู้เอาประกันภัยที่เป็นเป็นผู้สูงอายุและครอบครัว ให้ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา หากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันประชาชนจำนวนมากยังคงมีความเข้าใจสับสนระหว่างการประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ และการประกันชีวิตแบบทั่วไปที่ให้ความคุ้มครองคล้ายแบบผู้สูงอายุแต่มีเงื่อนไขต่างๆ ที่แตกต่างออกไปทำให้เกิดปัญหาร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ (18 ธันวาคม 2558) สำนักงาน คปภ. จึงได้เชิญสมาคมประกันชีวิตไทย โดยนาย สาระ ล่ำซำ (นายกสมาคมประกันชีวิตไทย) และหม่อมหลวงจิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ (อุปนายกฝ่ายการตลาด) รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มาหารือร่วมกับคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ในการบูรณาการแนวทางในการเสริมสร้างความเชื่อมั่น ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากการประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกรมธรรม์อย่างแท้จริง

“ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนหลายกลุ่มได้ดี แต่เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนระหว่างผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบทั่วไปและแบบผู้สูงอายุ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและต่อระบบประกันภัยของไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการโฆษณาของบริษัทประกันภัย การให้ข้อมูลของตัวแทนประกันชีวิต รวมถึงความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคเอง จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาจึงควรเป็นแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อให้แก้ปัญหาเป็นระบบแบบครบวงจร โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ประชุมฯได้มีมติให้บูรณาการการดำเนินการดังนี้

การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ.

1. เร่งออกคำสั่งนายทะเบียนให้มีการแก้ไขแบบและข้อความ รวมถึงเอกสารประกอบกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ ให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างกรมธรรม์แบบทั่วไปและแบบผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจน

2. ตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยจัดทำ “คู่มือประชาชน” เพื่อให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ประชาชนในวงกว้าง

3. ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพการขายประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุว่าเป็นไปตามประกาศ คปภ. หรือไม่ โดยการสุ่มตรวจทางโทรศัพท์เป็นระยะๆ

การขอความร่วมมือสมาคมประกันชีวิตไทย

1. ให้ปรับแก้ไขโฆษณาประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เกิดความสับสน รวมทั้งให้ระบุข้อความให้ชัดเจนว่า กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยผู้เอาประกันจะได้รับเงินตามจำนวนที่ เอาประกันภัยเมื่อพ้นระยะเวลา 2 ปี ไปแล้ว

2. ให้ทางบริษัทประกันชีวิตปรับแก้รูปเล่มกรมธรรม์และใบคำขอเอาประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุให้แตกต่างจากกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบทั่วไป

3. ในการจัดทำใบสรุปสาระสำคัญและข้อยกเว้น ให้ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายและมีความชัดเจน

4. หลังการขายประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ ให้บริษัทประกันชีวิตโทรศัพท์ตรวจสอบความถูกต้องของกรมธรรม์ (Confirmation Call) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างบริษัท และผู้เอาประกันชีวิต ว่าได้

ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุตรงตามความต้องการหรือไม่ ซึ่งหากเงื่อนไขความคุ้มครองไม่ตรงตามที่ต้องการ ผู้เอาประกันชีวิตสามารถบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ หากซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิต หรือภายใน 30 วัน หากซื้อกรมธรรม์ผ่านทางโทรศัพท์

5. ให้บริษัทประกันชีวิตควบคุมคุณภาพในการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในช่องทางที่บริษัทขาย ตั้งแต่ต้นกระบวนการ ทั้งการคัดกรองตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ ฝึกอบรมเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่เป็นผู้เสนอขาย รวมถึงติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการเสนอขายอย่างต่อเนื่อง

6. ในกรณีที่มีการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนแบบ universal life และแบบ unit-linked ให้กำชับบริษัทประกันชีวิตปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศ คปภ. กำหนด เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุมีความตื่นตัวในการทำประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงได้มีการได้เน้นย้ำให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทดูแลเรื่องการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปภ. กำหนด รวมทั้งให้สมาคมประกันชีวิตไทยหาแนวทางการกำกับดูแลกันเอง (self-regulating) ให้เกิดประสิทธิภาพ

ในเรื่องการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยม และเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ