คปภ. ตั้งทีมสางปัญหาสินเชื่อพ่วงประกัน ผนึกสมาคมธนาคารไทยคุ้มครองผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Wednesday January 27, 2016 15:37 —คปภ.

คปภ. เดินเกมรุกพัฒนาระบบประกันภัย ชูเป้าหมายใหญ่คุ้มครองผู้บริโภคสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผนึกชมรม Compliance สมาคมธนาคารไทย สางปัญหาสินเชื่อพ่วงประกัน “สุทธิพล”สั่งตั้งทีมทำงานบูรณาการทั้งระบบ ชี้ธุรกิจประกันภัยไทยจะเข้มแข็งได้ต้องได้รับความมั่นใจจากคนในชาติ

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ประชุมร่วมกับชมรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Club) สมาคมธนาคารไทย โดยมีสมาชิกตัวแทนจากธนาคารรวม 15 แห่ง ร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ตลอดจนแนวทางความร่วมมือในการกำกับและดูแลการขายประกันภัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมกับธนาคารให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดทั้งในส่วนของธนาคารและตัวแทนขายประกันภัย โดยต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ลดการโน้มน้าวที่อาจจะเข้าข่ายขายพ่วงประกันภัย รวมทั้งการนำเสนอวงเงินประกันที่เหมาะสมกับลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการประกันภัย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาใหญ่ของธุรกิจประกันภัย คือ การขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการประกันภัย เกิดกรณีบริษัทประกันภัยล้มในอดีต รวมทั้งผลกระทบที่ได้รับจากตัวแทนประกันภัยบางคนที่มุ่งแต่ทำยอดขายประกัน เกิดกรณีการไม่ปฎิบัติตามกฎกติกา ขาดการดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากขายประกันแล้ว ซึ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อนและส่งผลให้การทำประกันภัยยังคงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยจึงเป็นหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วยการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการให้ความรู้ด้านการประกันภัย ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เมื่อเร็วๆนี้สำนักงาน คปภ. จึงได้ลงนาม MOU ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อร่วมกันดูแลคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมความเชื่อมั่นให้เกิดกับประชาชน นำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจประกันภัย ลดข้อร้องเรียนและสางปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทาง

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาจากข้อร้องเรียนเรื่องการประกันภัยคุ้มครองสินเชื่อธนาคาร ดำเนินการภายใต้ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2551 ที่ครอบคลุมถึงการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน อาทิ การทำหน้าที่ในการเสนอขายต้องแสดงให้ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยอธิบายความแตกต่างระหว่างการประกันชีวิตกับการฝากเงินกับธนาคารก่อนเสนอขายทุกครั้ง การทำประกันภัยของลูกค้าธนาคารต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ห้ามมิให้มีการบังคับ หรือใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่นใดของธนาคาร เป็นต้น

ทั้งนี้ผลจากการหารือกับตัวแทนธนาคาร และชมรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Club) สมาคมธนาคารไทย สำนักงาน คปภ.จะตั้งคณะทำงานร่วมกับตัวแทนชมรมฯ เพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหาที่เกิดจากการขายประกันภัยคุ้มครองสินเชื่อธนาคาร โดยเบื้องต้นได้ขอความร่วมมือกับทางธนาคาร ให้พนักงานขายประกันภัยนำเสนอข้อมูลและรายละเอียดของการทำประกันภัยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนแก่ลูกค้า ไม่มีการโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิดหรือนำเสนอวงเงินประกันภัยเกินความเหมาะสม และห้ามมิให้มีการบังคับหรือใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองการให้สินเชื่อหรือธุรกรรมอื่นใดของธนาคาร ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะไม่ถูกเอาเปรียบ และไม่ถูกโน้มน้าวชักจูงจนเกิดการตัดสินใจซื้อประกันภัยอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยลำดับแรกจะขอความร่วมมือจากธนาคารก่อน

ในการดำเนินการข้างต้นจะให้ความสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งประเด็นของกฎระเบียบต่างๆที่ยังมีปัญหาในการแปลความก็อาจจำเป็นต้องวางแนวปฎิบัติให้ชัดเจน รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการขายประกันคุ้มครองสินเชื่อธนาคารเพื่อความเหมาะสม ซึ่งนอกจากธนาคารแล้ว ตัวแทนที่รับช่วงการขายประกันจากธนาคาร จะต้องมีการทำงานในลักษณะที่สอดคล้องกัน มีการควบคุมบุคลากรในการขายอย่างเคร่งครัด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเดียวกัน ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อเสริมความมั่นใจให้กับประชาชน อันเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด สำหรับแนวทางในระยะยาวจะใช้การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตัวแทนของธนาคาร เพื่อสร้างระบบประกันภัยที่เข้มแข็งร่วมกัน

ในส่วนข้อเสนอจากตัวแทนชมรมฯ นอกเหนือจากการร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนของประกันภัยคุ้มครองสินเชื่อธนาคารแล้ว ยังมีส่วนที่ชมรมฯ เสนอขอความร่วมมือด้านข้อมูลร้องเรียนจากทาง สำนักงาน คปภ. เพื่อให้ธนาคารต่างๆ ได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากการร้องเรียนของประชาชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการดำเนินงานต่อไป รวมทั้งในกรณีที่สำนักงาน คปภ. มีการปรับปรุงหรือเพิ่มกฎเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับประกันภัยโดยธนาคาร ทางชมรมฯ พร้อมที่จะให้ข้อมูลประกอบการพิจารณากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ดร.สุทธิพล กล่าวในตอนท้ายว่า การหารือในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการบูรณาการทำงานเพื่อพัฒนาและยกระดับระบบประกันภัยในประเทศไทย สร้างความมั่นใจต่อประชาชน ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ และเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ภายใต้แผน“แผนพัฒนาการ ประกันภัยฉบับที่ 3” อีกด้วย สำหรับประชาชนที่มีปัญหาด้านการประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ