คปภ. เผยความคืบหน้าในการใช้ระบบประกันภัย แก้ไขปัญหาเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้ชาวนา

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2016 13:54 —คปภ.

พร้อมเร่งปูพรมเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ความรู้เกษตรกรผ่านโครงการ Training for the trainers ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดเชียงราย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการใช้ระบบประกันภัยแก้ปัญหาให้กับชาวนา กรณีภัยแล้งและอุทกภัยที่ฤดูน้ำหลากกำลังจะมาถึงว่าแบ่งการดำเนินการเป็นสองระยะ คือ ระยะสั้น ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในปี 2559 และระยะยาวซึ่งเป็นการรองรับสภาพปัญหาซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นทุกปี สำหรับการแก้ปัญหาในปี 2559 นี้ สำนักงาน คปภ. เป็นแกนหลักในการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ที่ต้องการให้เพิ่มพื้นที่โครงการประกันภัยข้าวนาปีเป็นประมาณ 30 ล้านไร่ เพื่อให้เบี้ยประกันภัยถูกลงทำให้ชาวนาได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งสำนักงาน คปภ. เป็นตัวกลางในการประชุมเจรจากับภาคธุรกิจประกันภัยผ่านทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยหลายครั้ง โดยตัวเลขที่มีความเป็นไปได้คือ 25 ล้านไร่ ซึ่งหากทำประกันภัยแบบเหมารวมทั้ง 25 ล้านไร่ ก็จะทำให้เบี้ยประกันภัยลดลงมาอยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ ซึ่งจะถูกกว่าอัตราเบี้ยประกันภัยต่อไร่ที่เคยดำเนินการมาในปีก่อนๆ ซึ่งคิดเป็น 300 บาท ต่อไร่ แต่หากมิได้ทำประกันภัยแบบเหมารวม อาจคิดอัตราเบี้ยประกันภัยแบบขั้นบันได ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทยอยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทประกันภัยต่างประเทศที่จะมาเป็นผู้รับประกันภัยต่อ ถึงความเป็นไปได้กรณีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 ใน 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 พื้นที่ทำประกันภัย 22-25 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 120 บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลช่วยเหลือ 100 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 20 บาทต่อไร่ แต่ ธ.ก.ส. จะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร โดยจำกัดพื้นที่ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน

แนวทางที่ 2 แบ่งตามขนาดพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ทำประกันภัย ตั้งแต่ 22-25 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 120 บาทต่อไร่ พื้นที่ทำประกันภัย ตั้งแต่ 16 - 22 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น 20% พื้นที่ทำประกันภัยตั้งแต่ 13 - 16 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น 40% และพื้นที่ทำประกันภัยน้อยกว่า 13 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น 100% โดยจะมีระยะเวลาการขายประมาณ 3 เดือน และจะต้องมีการกำหนดวันปิดการขายด้วย

โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับ ธ.ก.ส. ซึ่งถ้าข้อมูลไม่สอดคล้องกันอาจก่อให้เกิดปัญหาในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ในภายหลัง เบื้องต้นสำนักงาน คปภ. ได้พิจารณาข้อมูลแล้วเห็นว่า อัตราความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ประมาณ 10% แต่อัตราความเสียหายของพื้นที่ปลูกข้าวโครงการรับประกันภัยข้าวมีมูลค่าสูงกว่ามาก ถึงแม้ 2 ปี ที่ผ่านมา Loss ratio ค่อนข้างต่ำ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายของปีที่ผ่านมาได้ และเนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องพึ่งพาการประกันภัยต่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย จึงเห็นควรกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีอัตราเดียวทั่วประเทศ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจแก่เกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการดำเนินการในระยะยาว ได้เสนอให้รัฐบาลประกาศให้การประกันภัยพืชผลเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเสนอให้มีการจัดทำกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อวางกรอบกติกาเกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลแบบครบวงจร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อวางนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจเป็นประธาน รวมทั้งมีคณะอนุกรรมการในระดับชาติเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายประกันภัยพืชผล ให้เกิดประสิทธิภาพซึ่งในส่วนภูมิภาค จะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะมีดำริให้มีการปรับปรุงประการใด

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการ Training for the trainers สำนักงาน คปภ.จัดขึ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องหลักการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัยให้กับผู้เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง อาทิ เกษตรกรจังหวัด เกษตรอำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อบจ. อบต. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ในลักษณะการสร้างเครือข่ายด้านองค์ความรู้และความเข้าใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ซึ่งโครงการอบรมฯนี้จัดปูพรมทุกภาค โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ที่จังหวัดเชียงราย โดยได้รับเกียรติจากนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มาร่วมพิธีเปิดและกล่าวต้อนรับ พร้อมร่วมหารือข้อราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามโครงการประกันภัยพืชผล เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยขน์สูงสุด นอกจากนี้ยังมี หน่วยงานต่างๆ ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

“โครงการ Training for the trainers นับเป็นโครงการนำร่องซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเห็นถึงประโยชน์ของการบริหารความเสี่ยงโดยใช้ระบบประกันภัยให้กับตัวแทนเกษตรกร ก่อนที่จะเข้าสู่โหมดของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล และนำไปสู่การปฏิรูปการประกันภัยพืชผลอย่างเป็นเอกภาพ และเป็นรูปธรรมในการใช้ระบบประกันภัยเข้ามาแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยมีข้อเสนอให้จัดทำเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผล เพิ่มการประสานงานและบูรณาการการทำงานและเสนอให้จัดทำกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการประกันภัยการเกษตรต่อไปในอนาคตอีกด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวใน

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ