ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า กระบวนการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ถือเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกที่กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับ โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเรียกร้องตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเป็นคู่พิพาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้จัดให้มีระเบียบข้อบังคับ หน่วยงาน และบุคลากรให้บริการประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะระงับข้อพิพาททางเลือก ซึ่งสำนักงาน คปภ.ได้จัดทำบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการไว้เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ระงับข้อพิพาทระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้ให้ประกันภัยมาตั้งแต่ปี 2541 ดังนั้น เพื่อให้บัญชีรายชื่อดังกล่าวมีความทันสมัย สำนักงาน คปภ. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงงานทะเบียนอนุญาโตตุลาการสำนักงาน คปภ. ที่มีอยู่เดิม ให้เป็นปัจจุบัน และมีข้อมูลของอนุญาโตตุลาการที่ครบถ้วนเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกบุคคลทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาท การขึ้นทะเบียนอนุญาโตตุลาการจากบุคคลที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนงานอนุญาโตตุลาการและเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มเติมบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการใหม่อีก 21 ท่าน ประกอบด้วย อดีตข้าราชการตุลาการอาวุโส อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับศาสตราจารย์ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดงานปฐมนิเทศอนุญาโตตุลาการที่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปปรับใช้ต่อการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในวันที่ 13 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก
“สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ให้มีความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญ คือ การดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย โดยในภารกิจส่วนหนึ่งที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ สำนักงาน คปภ. ได้นำกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้ เพื่อเป็นกระบวนการยุติธรรมอีกทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนใช้ระงับข้อพิพาทจากสัญญาประกันภัยที่เกิดขึ้น ระหว่างประชาชนผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย อีกทั้งกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนี้จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาทได้เป็นอย่างดี ทั้งยังทำให้ข้อพิพาทระงับได้ในเวลาที่รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย อันจะส่งผลดีต่อการดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย และสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ ศรัทธาในธุรกิจประกันภัยแก่ประชาชน”
ดร. สุทธิพล กล่าวว่า นอกจากนี้สำนักงาน คปภ.ยังมีโครงการพัฒนากระบวนงานการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการในส่วนภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงาน คปภ. อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงรองรับการให้บริการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยช่วงเดือนเมษายน 2559 สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้งที่ทำการอนุญาโตตุลาการเพิ่มเติม ณ สำนักงาน คปภ. ภาค 12 จังหวัดสงขลา โดยมีเขตอำนาจรองรับการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวก และบรรเทาความเดือนร้อน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ผู้เอาประกันภัย โดยมีภาคอีสานเป็นเป้าหมายต่อไป
“พัฒนาการทางด้านประกันภัยในยุคดิจิตอลเช่นในปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการทำธุรกิจประกันภัยโดยอาศัยช่องทางใหม่ๆ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในประเภทของข้อพิพาทต่างๆในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนและทำให้กลไกระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. นอกจากจะต้องมีทักษะในการชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิทยาการที่เกี่ยวกับประกันภัย ตลอดจนพัฒนาการใหม่ๆที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัยในเศรษฐกิจยุคดิจิตอล ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดให้มีการปฐมนิเทศอนุญาโตตุลาการใหม่ และให้อนุญาโตตุลาการรุ่นพี่ที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อน มาถ่ายถอดความรู้และสบการณ์ให้ และต่อไปจะได้มีการเชิญอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. ทุกท่านมาสัมมนาร่วมกันเพื่อ update ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องประกันภัยในยุคดิจิตอล เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด
ที่มา: http://www.oic.or.th