สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย ออกแบบ “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อคนพิการ สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้พิการ ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบประกันภัยและใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบริหารความเสี่ยงในชีวิตและครอบครัวของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้พิการในการดำเนินชีวิตต่อไป
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าสืบเนื่องจาก ปี 2559 เป็นปีมหามงคลในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จัดทำ “โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อผู้พิการด้วยการประกันภัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559” ซึ่งจะได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้มีบทบาทในการตอบแทนสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR)
โดยในระยะแรกได้มีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อคนพิการโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นรูปแบบกรมธรรม์รายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ที่ให้ความคุ้มครองผู้พิการกรณีเสียชีวิต เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวน 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวน 50,000 บาท ผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วันแรกนับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวน 5,000 บาท ผลประโยชน์ชดเชยเงินปลอบขวัญ เนื่องจากอุบัติเหตุ (ต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นคนไข้ใน ในโรงพยาบาล เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 4 วัน) ตลอดระยะเวลาประกันภัย จำนวน 5,000 บาท และผลประโยชน์การชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 200 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย เพียง 300 บาทต่อปี
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อคนพิการที่พัฒนาขึ้นเป็นโครงการนำร่องนี้ ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับความพิการ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนพิการทางการมองเห็น กลุ่มคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และกลุ่มคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ซึ่งคิดเป็นจำนวน 1.19 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 76 จากคนพิการทั้งหมด 9 กลุ่ม โดยกลุ่มผู้พิการเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สามารถพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตประจำวันให้อยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติ ฉะนั้น จึงควรที่จะได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และได้รับการส่งเสริมโอกาสการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ โดยปราศจากอุปสรรคและการเลือกปฏิบัติ
“งานในวันนี้มีการเสวนารับฟังความคิดเห็นการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการ ตามโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อผู้พิการด้วยการประกันภัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย จะนำความเห็นของผู้พิการทั้ง 3 กลุ่มไปต่อยอดพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการให้มีความหลากหลายและสมบูรณ์มากขึ้นในระยะถัดไป เพื่อให้สอดคล้องตรงตามความต้องการมากที่สุด ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการในขั้นตอนที่สองที่เป็นการต่อยอดนี้จะเริ่มขายในงานสัปดาห์ประกันภัยที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน ต่อไป”เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด
สำหรับผู้พิการที่ประสงค์จะซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อคนพิการจะต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 60 ปีบริบูรณ์ สามารถซื้อได้คนละไม่เกิน 2 กรมธรรม์ เพียงนำบัตรประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวผู้พิการไปซื้อได้กับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย โดยขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 30 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทประกันชีวิต 5 บริษัท ได้แก่ บมจ.ไทยประกันชีวิต บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บจ.เอไอเอ และบมจ.กรุงเทพประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย 25 บริษัท ได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย บมจ.จรัญประกันภัย บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย บมจ.ซิกน่าประกันภัย บมจ.โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.ทูนประกันภัย บมจ.เทเวศประกันภัย บมจ.ไทยประกันสุขภาพ บมจ.ไทยศรีประกันภัย บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย บมจ.นวกิจประกันภัย บมจ.นำสินประกันภัย บมจ.ประกันคุ้มภัย บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ บมจ.เมืองไทยประกันภัย บมจ.วิริยะประกันภัย บมจ.ศรีอยุธยา เจนเนอรัลประกันภัย บมจ.สินมั่นคงประกันภัย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 บมจ.เอ็ม เอส ไอ จีประกันภัย (ประเทศไทย) บมจ.แอลเอ็มจีประกันภัย และบมจ.แอกซ่าประกันภัย ซึ่งคาดว่าจะมีบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้นอีก
ที่มา: http://www.oic.or.th