ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 สำนักงาน คปภ. โดยนายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ได้ลงนามในความตกลงด้านการปรึกษาโครงการเตรียมความพร้อมรองรับเกณฑ์การประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยตามมาตรฐานสากล ร่วมกับ Mr. Ulrich Zachan ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีตนเป็นสักขีพยาน และมีคณะผู้บริหารของธนาคารโลกและสำนักงาน คปภ. เข้าร่วมในพิธีลงนาม ณ ห้องประชุมใหญ่ สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ.
ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวที่มีมาจากความพยายามในการที่สำนักงาน คปภ. มีแนวทางในการปรับปรุงมาตรฐานการกำกับธุรกิจประกันภัยให้ก้าวหน้าในระดับสากล ตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ซึ่งนอกจากจะต้องมีการปรับปรุงระบบงานและกฎกติกา ตลอดจนการบังคับใช้กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลแล้ว ยังจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Assessment Program หรือ FSAP พร้อมกับหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน กลต. เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการประกันภัยที่เป็นที่ยอมรับตามาตรฐานสากล
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ตามนโยบายของบอร์ด คปภ. และเพื่อเป็นการนำระบบประกันภัยมาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงาน คปภ. จึงได้ตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการประเมิน FSAP โดยมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธานฯ ทั้งนี้ผลจากการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว เห็นควรให้ธนาคารโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินและการกำกับดูแลประกันภัยในระดับสากลให้คำปรึกษาในการประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยตามมาตรฐานสากล (Insurance Core Principle หรือ ICPs) ให้ข้อแนะนำในการจัดทำแผนพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ FSAP
นายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการคปภ. ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการที่สำคัญภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมดังกล่าวนั้น สำนักงาน คปภ. และคณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกจะร่วมกันประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. โดยละเอียดในเรื่องกฎระเบียบการกำกับดูแล และข้อปฏิบัติในทางธุรกิจให้เป็นไปตามหลักการประกันภัยระหว่างประเทศฉบับปรับปรุง (ICPs) ที่ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 26 ข้อ เพื่อจะได้ทราบประเด็นปัญหาที่สำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของไทยจากมุมมองของธนาคารโลก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่มีความเป็นกลาง เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ FSAP ในปลายปี 2560 ทั้งนี้ ก่อนสิ้นปี 2559 จะเริ่มดำเนินการประชุมร่วมกันพร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องและในช่วงต้นปี 2560 คณะที่ปรึกษาจากธนาคารโลกจะเดินทางมาร่วมการประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากนั้นคณะทำงานของทั้งสองฝ่าย จะร่วมวิเคราะห์ผลการประเมินฯ ที่ได้รับ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการปรับปรุงและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการภายในปี 2560
Mr. Ulrich Zachan ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ธนาคารโลกมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมลงนามในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจประกันภัยของไทยมีศักยภาพ และเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ตนมีความภูมิใจที่อยากจะให้ข้อมูลว่าความตกลงในลักษณะนี้ถือเป็นความตกลงแรกระหว่างหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยกับธนาคารโลก จึงขอชื่นชมสำนักงาน คปภ. ที่เห็นความสำคัญและทำงานในเชิงรุก โดยเปิดใจกว้างให้องค์กรภายนอกที่มีความเป็นกลางมาร่วมประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย อันแสดงให้เห็นว่าสำนักงาน คปภ. ต้องการให้ผลการประเมินนั้นออกมาโปร่งใสและเป็นกลางที่สุด ซึ่งบ่งบอกถึงความตั้งใจจริงของสำนักงาน คปภ. ในการพัฒนาในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายว่าการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทยอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงเป็นการประเมินการกำกับดูแลเท่านั้น ยังจะช่วยในการพัฒนาระบบประกันภัยของไทยอย่างครบวงจร ซึ่งรวมถึงศักยภาพของบุคลากรของสำนักงาน คปภ. อีกด้วย โดยระหว่างดำเนินการคณะที่ปรึกษาจะมีการให้ความรู้และข้อเสนอแนะแก่ผู้บริหาร และพนักงาน สำนักงาน คปภ. ในเรื่องมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (ICPs) วิธีการประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาคการเงิน (FSAP) อีกด้วย
ที่มา: http://www.oic.or.th