ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สำนักงาน คปภ. บูรณาการทำงานกับหลายภาคส่วน โดยได้เสนอแนวทางการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตรให้เป็นวาระแห่งชาติและเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและข้อจำกัดในการดำเนินการประกันภัยการเกษตร ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ยั่งยืน และครบวงจร ซึ่งในปี 2559 สำนักงาน คปภ. ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งได้จัดอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลในทุกมิติ และประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ส่งผลให้มีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปีในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 1.51 ล้านราย มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 27.17 ล้านไร่ อันเป็นการทุบสถิติการทำประกันภัยข้าวสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของ ประเทศไทย
ในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ยังคงขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเรื่องการประกันภัยข้าวนาปีในเชิงรุก โดยเร่งเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อนำระบบประกันภัยไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนา สำหรับโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ปี 2560 ได้เลือกจัดในจังหวัดที่ไม่ซ้ำกับปีก่อนจำนวน 9 จังหวัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดการทำประกันภัยข้าวนาปีให้มากยิ่งขึ้น โดยได้มีการจัดไปแล้ว 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา และจังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่ 5 ต่อจากนั้นก็จะจัดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และ สงขลา ตามลำดับ
การอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) เพื่อให้ความรู้กับตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปถ่ายทอดกับเกษตรกรต่อไปนั้น ในปีนี้มีความเข้มข้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ.จะลงพื้นที่ตามหมู่บ้านของจังหวัดที่จัดโครงการอบรมฯก่อนวันจัดอบรมฯ 1 วัน เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรในพื้นที่
สำหรับการจัดอบรมความรู้ประกันภัยที่จังหวัดเพชรบุรีได้ไปลงพื้นที่และร่วมประชุมกับเกษตรกร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ภายในชุมชน อบต. ไร่มะขาม ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 19 มิถุนายน 2560
ส่วนในวันที่ 20 มิถุนายน 2560 เป็นการจัดอบรมความรู้ประกันภัยที่โรงแรมลองบีช ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเลขาธิการคปภ.เป็นประธานเปิดและได้รับเกียรติจาก นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมและกล่าวต้อนรับ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเพชรบุรีและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับการอบรมฯในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กล่าวขอบคุณที่สำนักงานคปภ.เห็นความสำคัญของจังหวัดเพชรบุรีและเลือกจังหวัดเพชรบุรีเป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ประกันภัย ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวที่จะนำเอาระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้จากข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปี ในปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น 56.50 ล้านไร่ มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 27.17 ล้านไร่ คิดเป็น ร้อยละ 48.09 เมื่อพิจารณาอัตราการทำประกันภัยข้าวนาปีของจังหวัดเพชรบุรี พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าว 265,336 ไร่ มีพื้นที่ที่ทำประกันภัย 104,183 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 39.26 ซึ่งมีอัตราการทำประกันภัยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำประกันภัยข้าวนาปีของภาคตะวันตก ที่มีพื้นที่ทำประกันภัย คิดเป็นร้อยละ 43.72 ดังนั้น สำนักงาน คปภ จึงได้เร่งดำเนินการเชิงรุกสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและประโยชน์ของการนำเอาระบบประกันภัยเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อบริหารความเสี่ยงภัยในการปลูกข้าวนาปี
เลขาธิการ คปภ. กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2560 ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตามที่ สำนักงาน คปภ และสมาคมประกันวินาศภัยไทยเสนอ จากเดิมอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ ลดลงเป็น 90 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ และเพิ่มวงเงินคุ้มครองจากเดิม 1,111 บาทต่อไร่ เพิ่มเป็น 1,260 บาทอต่อไร่ ซึ่งเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และเสนอให้ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป เมื่อครม.มีมติเห็นชอบแล้วสำนักงานคปภ.จะบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการนี้ทันที
ทั้งนี้ ในส่วนของความคุ้มครองตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรรันส์) แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 หมวด ได้แก่ ความคุ้มครองหมวดที่ 1 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ วงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และความคุ้มครองหมวดที่ 2 ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากศตรูพืช หรือโรคระบาด โดยมีวงเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่
นอกจากนี้หากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศภัยพิบัติ อันเนื่องจากมีจำนวนพื้นที่ความเสียหายไม่เพียงพอต่อการประกาศเป็นสาธารณภัย ทางเกษตรอำเภอจะมีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าเกษตรกรมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง เพื่อที่จะได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบประกันภัยได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรหรือชาวนาไทยในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ที่มา: http://www.oic.or.th