ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ตนและคณะผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลาง ร่วมกับผู้อำนวยการภาค 5 ผู้อำนวยการ สำนักงาน คปภ. จังหวัดร้อยเอ็ดและเจ้าหน้าที่ในสังกัด สำนักงาน คปภ. ภาค 5 ได้ร่วมกันเข้าตรวจธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์
ซึ่งทาง สำนักงาน คปภ. ได้ตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพและเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน จากการตรวจติดตามครั้งนี้พบว่ามีประเด็นที่หมิ่นเหม่ต่อการไม่สอดคล้องกับประกาศ คปภ. ดังกล่าว เช่น แบบฟอร์มใบสมัครบัตรเดบิทที่มีบริการประกันภัยไม่ได้ระบุค่าเบี้ยประกันแยกจากค่าธรรมเนียมบัตร ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน พนักงานธนาคารที่เสนอขายประกันวินาศภัย แสดงใบอนุญาตนายหน้าหมดอายุ แม้ในวันที่เข้าตรวจจะไม่พบว่ามีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และมีการชี้แจงว่าได้ต่อใบอนุญาตแล้ว แต่ก็ไม่สามารถนำหลักฐานมาแสดงได้ นอกจากนี้บางธนาคารไม่มีป้ายแบ่งโซนการเสนอขายประกันให้ชัดเจน โดยใช้ป้ายระบุคำกว้างๆว่า "บริการทางการเงิน"ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน อีกทั้งยังพบว่าเอกสารแนะนำผลิตภัณฑ์และแบบฟอร์มใบสมัครฯของบางธนาคารไม่ชัดเจน ทำให้ลูกค้าอาจเกิดความสับสนและไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนซื้อเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมทั้งประเด็นที่ เลขาธิการ คปภ. มีข้อห่วงใยและได้กำชับให้มีการตรวจติดตามเพิ่มเติมเพื่อจะได้มีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วคือการที่ธนาคารแห่งหนึ่งมีการให้บริการประกันภัยร่วมกับบัญชีเงินฝาก โดยมีการหักค่าดอกเบี้ยเงินฝากในกรณีที่มีบริการประกันภัยดังกล่าว แม้ทางธนาคารจะชี้แจงว่ามิใช่เป็นเบี้ยประกันภัย แต่เมื่อพิจารณาแล้วการหักดอกเบี้ยในกรณีนี้ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการหักดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อนำมาชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัยโดยที่ไม่ได้แจ้งลูกค้าว่ามีการชำระเบี้ยประกันภัย และไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องนี้ จึงหมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนประกาศของคปภ.
เบื้องต้น เลขาธิการ คปภ. ได้แจ้งให้ทางสาขาธนาคารดังกล่าวรีบปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ พร้อมกับกำชับทาง สำนักงาน คปภ. ภาค 5 และสำนักงาน คปภ. จังหวัดร้อยเอ็ดให้กลับมาตรวจติดตามบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ทำรายงานผลการตรวจธนาคารในครั้งนี้อย่างเป็นระบบอีกด้วย ซึ่งจะได้รีบนำประเด็นข้อห่วงใยไปหารือกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อให้มีการปรับปรุงโดยเร่งด่วนต่อไป
ที่มา: http://www.oic.or.th