นำ mobile unit คุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุกด้านประกันภัยถึงประตูบ้านชุมชน“ตลาดบางหลวง ร.ศ.122 พร้อมแนะนำให้นำระบบประกันภัยมาช่วยบริหารความเสี่ยงด้านอัคคีภัย หลังพบบ้านเรือนอาคารไม้เก่า 130 ห้อง มีประกันอัคคีภัยเพียง 2 ห้องเท่านั้น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ได้นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย ผู้แทนจากกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมภาคธุรกิจประกันภัย ลงพื้นที่ชุมชนบางหลวง หรือ ตลาดบางหลวง ร.ศ.122 ตั้งอยู่ที่ตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายจีน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ร.ศ. 122 ในอดีตเป็นแหล่งค้าขายทางน้ำที่สำคัญของแม่น้ำท่าจีน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับชาวชุมชนบางหลวงอย่างครบวงจร โดยในโอกาสนี้สำนักงาน คปภ. ได้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ชุมชนดังกล่าวภายใต้หัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” โดยมี นายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นางสาววีนัส ทองลมุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และนายชัยยุทธ มังศรี ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และเปิดเวทีให้ชาวชุมชนได้แสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัยด้านประกันภัย โดยมีการไขข้อข้องใจพร้อมแนะนำในประเด็นต่างๆ เช่น กรณีที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับเพิ่มจำนวนเงินความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ จากเดิมจะได้รับค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็น 80,000 บาทต่อคน ค่าสินไหมทดแทน กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร จากเดิม 200,000 บาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็น 300,000 บาทต่อคน และกรณีสูญเสียอวัยวะจากเดิม 200,000 บาท ปรับเพิ่มเป็นระหว่าง 200,000-300,000 บาทต่อคน เป็นต้น
สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้มี ด.ต.บำรุง วิมูลชาติ นายกเทศมนตรีเทศบาลบางหลวง และนายสมศักดิ์ อยู่มาก ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบางหลวง ได้พาเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน เช่น ร้านยาจีนโบราณ ร้านทองโบราณ ร้านบัดกรีโลหะ ร้านถ่ายรูปด้วยกล้องสมัยโบราณ โรงตีเหล็ก บ้านดนตรีจีนฯลฯ นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมสภาพความเป็นอยู่ของชาวชุมชน ตลอดจนรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัย ซึ่งพบว่า ชุมชนแห่งนี้มีประชากรพักอาศัยจำนวน 302 ครัวเรือน สภาพบ้านเรือนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น หันหน้าเข้าหากันจำนวน 130 ห้อง และมักเกิดปัญหาอัคคีภัยเป็นระยะๆ ด้วยสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ได้เกิดไฟไหม้บริเวณ “ตลาดบน” จำนวน 30 ห้อง ซึ่งมีเพียง 2 ห้องเท่านั้นที่ทำประกันอัคคีภัยไว้ อีกทั้งชุมชนบางหลวงยังประสบปัญหาภัยจากน้ำท่วมเกือบทุกปี เนื่องจากเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมและสภาพปัญหาด้านประกันภัยของชุมชนแห่งนี้ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญและประเด็นปัญหาด้านประกันภัยภายในชุมชนบางหลวง หรือ ตลาดบางหลวง ร.ศ.122 รวมถึงแนวทางที่ชุมชนแห่งนี้จะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัย เพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะได้รับเกี่ยวกับอัคคีภัย ซึ่งปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) จ่ายเบี้ยประกันภัยเพียง 400 บาทต่อปี ให้ความคุ้มครองภัยจากธรรมชาติ เช่น ภัยจากลมพายุ น้ำท่วม ลูกเห็บ แผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด คลื่นใต้น้ำ หรือ สึนามิ ซึ่งทุกภัยรวมกันจะได้รับค่าสินไหมทดแทนไม่เกิน 10,000 บาท รวมทั้งยังได้รับความคุ้มครองภัยจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นคอนกรีต (บ้านตึก) จำนวนเงินเอาประกันภัย 300,000 บาท สิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 150,000 บาท สิ่งปลูกสร้างที่เป็นบ้านไม้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องแถวไม้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับการคุ้มครองกรณีสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องหาที่พักอาศัยชั่วคราว ผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราวอีก 30 วันๆละ 300 บาท ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัยอีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการเข้าถึงระบบประกันภัยตลอดจนเพิ่มภูมิคุ้มกันด้านประกันภัยให้กับประชาชนที่พักอาศัยภายในชุมชนต่างๆ จึงจัดโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โดยนำเอาองค์กร คปภ. ในรูปแบบของ mobile unit ไปสู่ประชาชนถึงประตูบ้าน ซึ่งการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของการประกันภัยให้กับประชาชนสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งมุ่งหวังให้ระบบประกันภัยเข้ามามีส่วนช่วยเสริมสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป" เลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอน
ที่มา: http://www.oic.or.th