ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้เอาประกันภัย ทั้งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบระยะสั้น และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบระยะยาว เช่น การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญที่ประชาชนสามารถนำหลักฐานการชำระเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ เบี้ยประกันชีวิตที่ประชาชนสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร ได้แก่ เบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2552 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และเบี้ยประกันสุขภาพที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนทำประกันสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาระในด้านค่ารักษาพยาบาลของประชาชน โดยล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ซึ่งประชาชนสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้อง ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เบี้ยประกันสุขภาพดังกล่าวต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์แบบบำนาญ ซึ่งประชาชนสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ เพิ่มจากเบี้ยประกันชีวิตตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญตั้งแต่ปีภาษี 2553 โดยเมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำประกันชีวิต ผู้ขอทำประกันชีวิตจะต้องกรอกใบคำขอเอาประกันชีวิต ซึ่งบริษัทจะรับประกันชีวิตจากข้อมูลในใบคำขอ ฉะนั้นผู้ขอทำประกันชีวิตจะต้องกรอกใบคำขอตามความเป็นจริงทุกประการ หากผู้ขอทำประกันชีวิตไม่กรอกข้อมูลตามความเป็นจริง และข้อมูลนั้น เป็นสาระสำคัญที่บริษัทต้องเพิ่มเบี้ยประกันภัย หรือปฏิเสธการทำประกันภัย เมื่อบริษัทสืบทราบภายหลัง บริษัทมีสิทธิบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่อย่างไรก็ตามในกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดให้บริษัทประกันภัยสามารถใช้สิทธิในการบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต ในกรณีนี้ได้ภายใน 2 ปี นับจากวันทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญา โดยในวันที่ผู้ขอเอาประกันชีวิตกรอกใบคำขอ จะต้องชำระเบี้ยประกันภัยงวดแรก และต้องได้รับใบเสร็จรับเงินชั่วคราวของบริษัทประกันชีวิตที่ระบุจำนวนเงินเบี้ยประกันภัยตรงกับจำนนวนเงินที่จ่ายไปจริงเก็บไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นบริษัทพิจารณารับหรือไม่รับประกันชีวิต จะติดต่อกลับภายใน 30 วัน ดังนั้น หากประชาชนที่กำลังจะตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันสุขภาพขอให้ศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง ความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย และรายละเอียดข้อยกเว้นให้เข้าใจก่อนตัดสินใจทำประกันภัย เพื่อให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตนเองได้มากที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th