START วันแรก 7 วันอันตรายต้อนรับปีจอ “เจ็บ-ตาย” เพียบ • คปภ. สั่งการบริษัทประกันภัยเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยและทายาท พร้อมโชว์ Platform รายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวทั่วไป Saturday December 30, 2017 16:06 —คปภ.

คปภ. สั่งการบริษัทประกันภัยเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยและทายาท พร้อมโชว์ Platform รายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ – รวดเร็ว - ทันท่วงที กรณีเกิดเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สำนักงาน คปภ. ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของการรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ด้วยการจัดทำ Platform การรายงานข้อมูลอุบัติภัยในครั้งนี้ทำให้ สำนักงาน คปภ. สามารถกำกับติดตามให้บริษัทประกันภัยรายงานกรณีเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ และติดตามเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์และผู้เสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ได้อย่างรวดเร็ว โดยเห็นได้จากการเกิดอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 เวลา 15.20 น. กรณีเกิดอุบัติเหตุบริเวณถนนบ้านรุง-กันทรลักษ์ (บ้านสมบูรณ์) ตำบลรุง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ รถยนต์หมายเลขทะเบียน บพ 5133 ศรีสะเกษ เฉี่ยวชนกับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บร 5303 ศรีสะเกษ ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย ทั้งนี้จากการรายงานข้อมูลผ่าน Platform ดังนั้นทำให้ สำนักงาน คปภ. สามารถทราบได้ทันทีว่ารถยนต์ หมายเลขทะเบียน บพ 5133 ศรีสะเกษ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์เลขที่ 86200922-17 NBK ไว้กับ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย โดยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2560 สิ้นสุดความคุ้มครอง 19 มิถุนายน 2561 ส่วนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บร 5303 ศรีสะเกษ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์เลขที่ CHR60-0046119-0 ไว้กับ บมจ.จรัญประกันภัย โดยเริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 สิ้นสุดความคุ้มครอง 27 พฤษภาคม 2561

นอกจากนี้ยังเกิดอุบัติเหตุกลุ่มหรือรายใหญ่ บริเวณถนนสาย 24 กิโลเมตรที่ 17-18 บ้านสระเพลง ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา รถยนต์หมายเลขทะเบียน นบ 30-1677 เสียหลักลื่นไถลลงข้างทาง ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 30 ราย โดยรถยนต์คันดังกล่าว ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์เลขที่ 02381-60113/กธ/9693020 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 มิถุนายน 2560 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และมีกรมธรรม์การประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 เมษายน 2560 สิ้นสุดการคุ้มครอง 30 เมษายน 2561 ไว้กับ บมจ.วิริยะประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการไปยังบริษัทประกันภัยให้เร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุและทายาทอย่างเร่งด่วนแล้วโดยจะช่วยอำนวยความสะดวกและประสานงานด้านค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมทั้งกำชับให้ สำนักงาน คปภ. ภาค 4 ภาค 5 สำนักงาน คปภ. จังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งใช้ระบบประกันภัยเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ในส่วนของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็นการประกันภัยพื้นฐานที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้รถทุกคันต้องทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองผู้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย ในส่วนของผู้โดยสาร กรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน และกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวรจะได้รับค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาทต่อคน และกรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-300,000 บาท กรณีเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน

สำหรับสถิติอุบัติเหตุตลอดวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ช่วง 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุ 477 ครั้ง ลดลงจากปีก่อน 42 ครั้ง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือจังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดมหาสารคราม โดยมีผู้เสียชีวิต 41 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากปีก่อน 1 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ จังหวัดศีรษะเกษ 6 ราย รองลงมาจังหวัดนครราชสีมา 2 ราย บุรีรัมย์ 2 ราย สงขลา 2 ราย สมุทรปราการ 2 ราย สุโขทัย 2 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย หนองคาย 2 ราย และอุบลราชธานี 2 ราย ในส่วนของผู้บาดเจ็บจำนวน 500 ราย ลดลง 60 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือจังหวัดเชียงใหม่ รองลงมา จังหวัดมหาสารคราม และนครศรีธรรมราช สำหรับสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุคือ เมาสุรา 42.77% ขับรถเร็ว 26.00 % ตัดหน้ากระชั้นชิด 14.68 % ทัศนวิสัยไม่ดี 15.51 %

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การบันทึกการเกิดอุบัติเหตุลง Platform การรายงานข้อมูลอุบัติภัยในลักษณะนี้แม้จะทำเป็นครั้งแรก ในวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ทั้งในส่วนของบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต และ สำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แต่ก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าจังหวัดศรีสะเกษ ได้รายงานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุกลุ่มหรือรายใหญ่ลงได้ Platform ได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถบริหารจัดการข้อมูลและช่วยเหลือติดตาม เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการและช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ ภายใต้ธีมงาน “ปีใหม่เดินทางปลอดภัย ด้วยการประกันภัย” เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์ สร้างกระแสให้เกิดการรับรู้ กระตุ้นจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ขับขี่ และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์และรถยนต์ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง รวมถึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบการประกันภัยให้มากยิ่งขึ้น โดยร่วมรณรงค์กับกรมขนส่งทางบก การรถไฟ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตลอดจนกิจกรรมให้บริการช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งเปิดศูนย์บริการสายด่วน คปภ. 1186 อย่างครบวงจร ให้บริการ Hotline 24 ชั่วโมง ระหว่าง (28 ธันวาคม 2560 – 3 มกราคม 2561) ตลอด 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ