คปภ. นำประชาชนที่ได้รับความเสียหาย 35 คน บุกแจ้งกองปราบฯ เชือดโบรกเกอร์เถื่อน “ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์”

ข่าวทั่วไป Wednesday January 24, 2018 14:21 —คปภ.

นายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 เวลา 10.00 น. ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. นำผู้เสียหายจำนวน 35 คน และผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทประกันภัยจำนวน 10 บริษัทที่ได้รับความเสียหายจากบริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการปราบปราม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ณ กองบังคับการปราบปราม แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

ทั้งนี้จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายมากกว่า 100 รายกรณี บริษัท ที.ไอ.เอส.ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด และนางสาวจุฑาภาส อังกาพย์ กรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัท ได้กระทำการหลอกลวงโดยได้โทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายและกล่าวอ้างว่าติดต่อจากศูนย์บริการรถยนต์ฮอนด้า พร้อมทั้งเสนอขายประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจของบริษัทประกันภัยให้แก่ผู้เสียหาย โดยบริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด จะทำการออกเอกสารใบคำขอเอาประกันภัยซึ่งอ้างว่าเป็นของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง และออกใบแจ้งการโอนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายตกลงทำประกันภัยรถยนต์และได้ทำการชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแต่เมื่อถึงกำหนดรับกรมธรรม์ ผู้เสียหายไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทประกันภัย แต่บริษัทแจ้งว่าไม่มีการแจ้งขอเอาประกันภัยแต่อย่างใด ผู้เสียหายจึงติดต่อกลับมายังบริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อขอยกเลิกการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยและขอเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืน ซึ่งพนักงานของบริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด กลับไม่ยินยอมให้ยกเลิกการซื้อกรมธรรม์ หรือบ่ายเบี่ยงการคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งถึงปัจจุบันมีเพียงผู้เสียหายบางรายเท่านั้นที่ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืน

รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมด้วยว่าจากการตรวจสอบข้อมูลการได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัย ไม่พบว่า บริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยแต่อย่างใด และสำหรับตัวนางสาวจุฑาภาส อังกาพย์ เองเคยได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย แต่ได้ถูกยกเลิกใบอนุญาตแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 และได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2558 นางสาวจุฑาภาส อังกาพย์ ในฐานะกรรมการของบริษัท ทีที เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด ได้กระทำการหลอกขายประกันภัยรถยนต์ให้แก่ผู้เสียหายหลายรายในลักษณะเดียวกัน ในวันนี้ (24 มกราคม) สำนักงาน คปภ. จึงได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ให้สอบสวนดำเนินคดีกับ บริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด และกรรมการผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการของบริษัท ในความผิดฐานกระทำการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ตามมาตรา 63 อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551) ส่วนผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานฉ้อโกง

นอกจากนี้ ในการชี้ช่องหรือจัดการเพื่อให้ผู้เสียหายเข้าทำสัญญาประกันภัยดังกล่าว บริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด และนางสาวจุฑาภาส อังกาพย์ กรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัท ได้ใช้เอกสารใบคำขอเอาประกันภัยซึ่งปรากฏชื่อของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง ได้แก่ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท แอลเอ็มจีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็มเอสไอจีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าเอกสารใบคำขอเอาประกันภัยเป็นของบริษัทประกันภัย รวมทั้งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยและธุรกิจประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยจะได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด และนางสาวจุฑาภาส อังกาพย์ กรรมการซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัท ต่อกองบังคับการปราบปรามต่อไป

“สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำนักงาน คปภ. จะไม่นิ่งนอนใจและจะเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาใน เชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อีก แต่อย่างไรก็ตามอยากแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัยเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ โดยขอดูใบอนุญาตตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย และตรวจสอบสถานะใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวมทั้งรายชื่อตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) โดยค้นหาจากเมนู E-Service หรือค้นหาได้จากแอพพลิเคชั่น “รอบรู้ประกันภัย” หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. โทร 1186 เพื่อจะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องในการซื้อประกันภัยจากตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ” รองเลขาธิการกล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


แท็ก ประกันภัย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ