ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและมีความถี่เพิ่มมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ที่ทำให้พื้นที่การเกษตรและผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อรายได้และความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ซึ่งการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ภาครัฐบาลผลักดันและให้การสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาหรือลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติดังกล่าว
ที่ผ่านมายังคงมีข้อจำกัดในหลายๆด้าน ทำให้การประกันภัยพืชผลถูกจำกัดอยู่เฉพาะในพืชไร่บางชนิด อาทิ ข้าวและข้าวโพด ทำให้ยังไม่ขยายผลในวงกว้าง สำนักงาน คปภ.ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากสามารถเข้าถึงและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย จึงได้ให้การสนับสนุนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการจัดทำงานวิจัยเรื่อง “รูปแบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เหมาะสมในลำไยของประเทศไทย” ซึ่งศูนย์วิจัยฯ ได้จัดทำต้นแบบของการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เหมาะสมในลำไยของประเทศไทย โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย การประกันภัยพืชผลลำไย เพื่อศึกษาแบบความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยการประกันภัยที่เหมาะสมกับลำไย ซึ่งมีผู้แทนจากสำนักงาน คปภ. รวมทั้งทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) เป็นคณะทำงาน
นอกจากนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องในการประกันภัยพืชผลลำไย จากภัยธรรมชาติ รวมถึงการส่งเสริมการประกันภัยในพื้นที่ เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2561 เลขาธิการ คปภ.พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร จากสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย และสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ.บูรณาการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยลงพื้นที่ศึกษาและสำรวจพื้นที่เพาะปลูกจริง พร้อมพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับคณะผู้ทำวิจัยเพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าว โดยข้อมูลที่มีการนำเสนอ อาทิ การผลิต การตลาด และพิบัติภัยจากภัยธรรมชาติในลำไย ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานเกี่ยวกับการแจ้งความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เพื่อประเมินปัจจัยต่างๆประกอบการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยลำไยต่อไป สำหรับการประชุมร่วมกับคณะผู้ทำวิจัยและการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลครั้งนี้ได้มีนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ตัวแทนของบริษัทประกันภัยรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศหลายแห่งเข้าร่วมด้วย ซึ่งได้ซักถามด้วยความสนใจพร้อมให้ข้อเสนอแนะต่างๆที่เป็นประโยชน์
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2560 พบว่า ทั่วประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกลำไยจำนวน 1,052,111 ไร่ มีผลผลิตจำนวน 995,108 ตัน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 8,802.27 บาท/ไร่ มูลค่าการส่งออก 14,052 ล้านบาท โดยมีจำนวนครัวเรือนที่เพาะปลูกจำนวน 232,446 ครัวเรือน โดยผลการศึกษาโครงการวิจัยดังกล่าวประกอบกับการลงพื้นที่จริงในเบื้องต้นทำให้ทราบข้อมูลความคิดเห็น ความต้องการ และข้อเสนอแนะของเกษตรกร และภาคีที่เกี่ยวข้องกับการทำประกันภัยพืชผลทางการเกษตรจากความเสี่ยงภัยด้านภัยธรรมชาติที่จะเกิดความเสียหายขึ้นกับต้นลำไย จำนวน 4 ภัย คือ ภัยแล้ง อุทกภัย วาตภัย และภัยจากลูกเห็บ รูปแบบการคิดเบี้ยประกันภัย อัตราเบี้ยและทุนประกันภัย รวมทั้งรูปแบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรจากความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติในลำไย แบ่งเป็น ประเภทที่ 1 เป็นการให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติทุกประเภท ประเภทที่ 2 เป็นการให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โดยงดเว้นบางประเภท และประเภทที่ 3 เป็นการให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โดยมีเพียงแค่บางประเภท ซึ่งแตกต่างกันตามความคุ้มครองต่อภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของลักษณะการให้ความคุ้มครองเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ควรจะเป็น (yield) พร้อมรวบรวมสถิติและจำนวนความเสียหายแยกตามแต่ละภัยแนวทางการพิจารณาการประเมินความเสียหายของต้นลำไย ช่วงระยะเวลาการรับประกันภัย ความคุ้มค่า กรณีขอการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยบางส่วนจากรัฐบาลฯลฯ ก่อนจะร่วมกันพิจารณากำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย ซึ่งขณะนี้สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) อยู่ในระหว่างการพิจารณาอัตราเบี้ยประกันภัยประกอบข้อมูลสำรวจพื้นที่การเพาะปลูกลำไยเพื่อให้เหมาะสมต่อไป
“สำนักงาน คปภ. เห็นว่า การประกันภัยพืชผลลำไยจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย ซึ่งจำนวนพื้นที่เพาะปลูก แม้ไม่มากเท่ากับพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปี แต่ก็มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 14,000 ล้านบาท รวมทั้งข้อมูลที่ได้รับจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยลำไย ซึ่งมีแนวทางที่เป็นไปได้หลายแนวทาง เช่น จัดทำประกันภัยรายย่อย หรือ ประกันภัยกลุ่มโดยสมัครใจ หรือใช้รูปแบบในลักษณะคล้ายกับการประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งในกรณีหลังจะต้องมีการเสนอเรื่องไปให้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยหากมีการนำระบบประกันภัยมาใช้กับลำไยก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการจัดทำประกันภัยลำไยแบบครบวงจร ทั้งนี้ประกันภัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเพื่อช่วยลดความเสียหายทั้งในด้านรายได้ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิตและยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศต่อไป อีกทั้งเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผลของประเทศไทยอีกด้วย สิ่งสำคัญซึ่งความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป”เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th