คปภ. จัดเต็มสัมมนาวิชาการประกันภัยประจำปี (Thailand Insurance Symposium 2018) เปิดโอกาสธุรกิจประกันภัยสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด เทคโนโลยีประกันภัยเปลี่ยนโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2018 13:42 —คปภ.

คปภ. จัดเต็มสัมมนาวิชาการประกันภัยประจำปี (Thailand Insurance Symposium 2018) เปิดโอกาสธุรกิจประกันภัยสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ภายใต้แนวคิด เทคโนโลยีประกันภัยเปลี่ยนโลก

(InsurTech Connect : Application for Imminent Opportunities)

ปลุกพลังธุรกิจใช้ RegTech ช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่สร้างภาระค่าใช้จ่าย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง เปิดเวทีระดมความรู้ในงานประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. 2561 (Thailand Insurance Symposium 2018) ภายใต้แนวคิด “InsurTech Connect : Application for Imminent Opportunities” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประกันภัย ให้กับบุคลากรประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัยมาเชื่อมโอกาสธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ณ ห้องบอลรูม 2-3 โรงแรม คอนราด

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การจัดงาน Thailand Insurance Symposium 2018 ครั้งนี้ถือเป็นเวทีเปิดกว้างและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเสริมสร้างความรู้ด้านการประกันภัย การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประยุกต์ใช้กับธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างโอกาสทางพันธมิตรเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในภาคส่วนธุรกิจประกันภัยและธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตในตลาดการเงินของประเทศไทย และในขณะเดียวกันประชาชนผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ไปพร้อมกัน

ในงานสัมมนาครั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ InsurTech Connect : Application for Imminent Opportunities โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า การเข้ามาของ FinTech และ InsurTech ธุรกิจประกันภัยได้มีการตื่นตัวอย่างกว้างขวาง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเทคโนโลยีมาเข้ามาผสมผสานทั้งการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ได้ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทประกันภัยสามารถเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการบริการและผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามตามมาว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะมีการกำกับดูแลอย่างไร และภาคธุรกิจจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับกติกาและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีอีกระดับ อันเป็นที่มาของ “RegTech” และ “SupTech” ที่ได้ยินแพร่หลายมากขึ้น

สำหรับ Regulatory Technology หรือ “RegTech” เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ

ประการแรก การพัฒนาระบบ “Dynamic Compliance” ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดตามและอัพเดตกฎหมายและหลักเกณฑ์ ในการกำกับดูแลต่างๆ ทั้งในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค รวมถึงมีกระบวนการในการติดตามและวิเคราะห์การดำเนินการภายในเพื่อป้องกันหรือตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล

ประการที่สอง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำ KYC/CDD (Know your customer / customer due diligent) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงป้องกันการฉ้อฉล

ประการที่สาม การพัฒนาระบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลความเสี่ยงที่รวบรวมมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงมีการกำหนดระบบการแจ้งเตือนถึงกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยง

ประการที่สี่ การพัฒนาระบบในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานแบบอัตโนมัติ จะเป็นการใช้ระบบอัตโนมัติในการกรองข้อมูล จัดแบ่งประเภท และนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำในรูปแบบรายงานตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจในการจัดทำงานงานนำส่งต่อหน่วยงานกำกับดูแล

นอกจาก RegTech จะเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว สำหรับหน่วยงานกำกับก็เริ่มที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการกำกับดูแลเช่นกัน เรียกว่า RegTech for supervisors หรือ SupTech ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยหน่วยงานกำกับในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์โดยอาศัยระบบอัตโนมัติหรือ AI หรือการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประสานงานกับภาคธุรกิจ เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการใช้มาตรการในการกำกับดูแล

นอกจากการนำ “RegTech” และ “SupTech” มาใช้ในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ซึ่งรวมถึงธุรกิจประกันภัยได้ด้วย เพราะเทคโนโลยีของ Blockchain ทำให้ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่บนโลกออนไลน์และออฟไลน์ สามารถกำหนดสิทธิความเป็นเจ้าของได้ และสามารถโอนส่งต่อถึงกันได้ด้วย ส่งผลให้กระบวนการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันภัยทำได้ง่ายยิ่งขึ้น อาทิ การออกโมเดลด้านการประกันภัยใหม่ๆ เรียกว่า Parametric Insurance ในสหรัฐอเมริกา เป็นการประกันภัยที่จะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่อเกิดเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ การใช้ระบบ Blockchain ในการทำ smart contract จะเป็นการกำหนดข้อตกลงของสัญญาไว้ในโค๊ดคอมพิวเตอร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขของสัญญาแล้ว โค๊ดจะดำเนินการตามข้อตกลงโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากโมเดลดังกล่าว บริษัทให้ความสนใจก็จะทำให้ธุรกิจประกันภัยของเรามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ จะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้อีกมากมาย และทำให้ธุรกิจประกันภัยเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบครบวงจรได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีตามมาด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากภัยคุกคาม และการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ สำหรับในประเทศไทยมีการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อกำหนดมาตรการและการดำเนินการเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้สามารถปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการ ซึ่งขณะนี้ร่าง พรบ. ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยเองควรเร่งศึกษาร่าง พรบ. ดังกล่าว เพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวและดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อ พรบ. มีผลบังคับใช้

“สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม สิ่งสำคัญที่สำนักงาน คปภ. คำนึงถึงอยู่เสมอ คือ การกำหนดแนวนโยบาย การพัฒนาระบบงานต่างๆ และการพัฒนากฎระเบียบที่รองรับและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลควบคู่ไปกับการตระหนักถึงความต้องการจากทั้งภาคธุรกิจและสังคมอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยในยุคดิจิทัล ให้มีความทันสมัย สอดรับกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เกิดการแข่งขันในเชิงสร้างสรรค์ และประชาชนมั่นใจได้ว่าการทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทประกันภัยจะได้รับการดูแลให้มีความถูกต้อง ปลอดภัย และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน” ดร.สุทธิพล กล่าวย้ำ

สำหรับการจัดงาน Thailand Insurance Symposium ภายใต้ หัวข้อ InsurTech Connect: Applications for Imminent Opportunities ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ Innovation Trend of Digital Insurance 2018 โดย Dr. Woody Mo, CEO of eBaoTech Corporation การบรรยายพิเศษเรื่อง Emerging Risk Insights โดย Mr. Sandeep Gopal, CRO Asia Pac Corporate Solutions, Swiss Re การบรรยายพิเศษเรื่อง InsurTech Revolutionizing Insurance Industry โดย นายธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล, Co - Founder and Managing Director,FairDee Insurtech Co., Ltd. และการบรรยายพิเศษเรื่อง “Digital Transformation for Insurance Business ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ Advisory Board of Noon นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และยังมีพิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการให้กับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง วปส. รุ่น 7 จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลผลงานดีเด่น เรื่อง “การประกันภัยในยุค Digital Disruption” กรณีศึกษา “การประกันภัยการเดินทาง” และผลงานดี เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการออมภาคประชาชนแบบสมัครใจ” โดยผ่านการประกันชีวิต อีกทั้งการสัมมนาในครั้งนี้ ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านการประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

“ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทุกอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งธุรกิจประกันภัยก็เช่นกัน การเข้ามาของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีก็จะช่วยยกระดับหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในเชิงข้อบทกฎหมายและกระบวนการกำกับดูแลให้มีความทันสมัยสอดรับกับการพัฒนาการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในท้ายที่สุดไม่เพียงแต่วงการเทคโนโลยีสารสนเทศและวงการธุรกิจประกันภัยจะสามารถพัฒนาขับเคลื่อนเดินต่อไปข้างหน้าได้แล้ว ประชาชนผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์ไปพร้อมกัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ