ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีมาตรการเชิงรุกในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย เพื่อส่งเสริมให้มีการนำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงได้มีการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงตามความต้องการด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย อาทิ กรมธรรม์ประกันภัย 100 และกรมธรรม์ประกันภัย 222 ซึ่งจำหน่ายเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลปีใหม่
สำหรับปี 2561 เพื่อแสดงความห่วงใยและส่งเสริมระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยให้กับประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาตามประเพณีไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำนักงาน คปภ. จึงได้พัฒนาต่อยอดจากกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) กรมธรรม์ประกันภัย 100 และกรมธรรม์ประกันภัย 222 เป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม ภายใต้ชื่อ กรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์อุ่นใจ (ประกันภัย 10 บาท) โดยจำหน่ายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2561 โดยเบี้ยประกันภัยเพียง 10 บาท ให้ความคุ้มครองระยะเวลา 1 เดือน สำหรับ 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ มือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะมือ เท้า สูญเสียสายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 15 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวน 5,000 บาท
นอกจากนี้กรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท ยังได้มีการปรับปรุงในส่วนอายุของผู้เอาประกันภัยโดยขยายอายุของผู้เอาประกันภัยจาก 20-60 ปี เป็น 20-70 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าระบบประกันภัยได้มากขึ้น ทั้งนี้จากสถิติการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มสงกรานต์อุ่นใจ (ประกันภัย 10 บาท (ไมโครอินชัวรันส์ ที่มีการเปิดขายระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2561 พบว่า กรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท ได้สร้างสถิติใหม่เป็นประวัติศาสตร์ให้กับวงการประกันภัย โดยมียอดจำหน่าย 1,327,193 ราย เพิ่มขึ้น 21.04 เท่า เมื่อเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัย100 ที่มียอดจำหน่าย 63,069 ราย ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 94.75 เท่า เมื่อเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัย 222 ที่มียอดจำหน่าย 14,006 ราย ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์อุ่นใจ หรือ ประกันภัย 10 บาท ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นกลยุทธ์ใหม่ของสำนักงาน คปภ. ที่มีการนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองด้านประกันภัยอย่างทั่วถึงอีกด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท เป็นโครงการนำร่องในปีนี้ถือเป็นปีแรกจึงพบปัญหาอุปสรรคบางประการที่จะต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ ขั้นตอนที่ประชาชนจะเข้าไปลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิประกันภัย 10 บาท ตามเงื่อนไขของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ยังมีความซับซ้อนทำให้ประชาชนไม่เข้าใจหรือเห็นว่ามีขั้นตอนที่ยุ่งยากจึงไม่ลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิตามเงื่อนไขที่กำหนด แม้ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆก็ตามที อีกทั้งพนักงานของผู้ประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในส่วนภูมิภาคยังขาดความรู้ความเข้าใจในการแนะนำให้ประชาชนได้รับสิทธิกรมธรรม์ 10 บาท ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงการได้มาซึ่งสิทธิเพื่อรับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ 10 บาท มีระยะเวลาสั้นและกระชั้นชิด จึงทำให้ไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป
ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ Connectivity ด้วยการนำระบบประกันภัยเข้ามาเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเพื่อยกระดับการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท ของประชาชนในโอกาสต่อไป สำนักงานคปภ. จึงกำหนดแนวทางไว้ดังนี้ ประการแรก นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรับประกันภัยเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และสามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ในปีต่อไป เช่น การใช้ QR Code ประการที่สอง เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงคนกลางที่ทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำและสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้และเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ประการที่สาม ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และประการสุดท้าย สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการเข้าร่วมโครงการให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับปีนี้ต้องขอขอบคุณและชื่นชมผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ รวมทั้งบริษัทประกันภัย ทั้ง 19 บริษัท ที่ร่วมแรงร่วมใจกันนำระบบประกันภัยส่งตรงถึงมือโดยที่ประชาชนคนไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัททีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด , หนังสือพิมพ์ดาราเดลี่ , บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) , บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด , บริษัทแบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) , บริษัทเทสโก้ เจเนอรัล อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด , บริษัทหยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด , บริษัทออการ์ (ประเทศไทย) จำกัด , บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย , บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ , บมจ.ทิพยประกันภัย , บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย , บมจ.วิริยะประกันภัย , บมจ.เอเชียประกันภัย , บมจ.แอลเอ็มจี ประกันภัย , บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต และบจ.เอไอเอ
“สำนักงาน คปภ. ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนให้เข้าถึงระบบประกันภัยและเลือกใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท จึงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สำนักงาน คปภ. มีความภาคภูมิใจที่จะทำให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ด้วยการนำกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท ไปเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในรูปแบบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าคนพิเศษ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีต่อๆไปกรมธรรม์ดีๆลักษณะนี้จะถูกส่งตรงถึงมือประชาชนทั่วไปประเทศต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด
ที่มา: http://www.oic.or.th