คปภ.เตรียมรับมือจำนวนข้อพิพาทด้านประกันภัย ขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ยรุ่นที่สองเพิ่มเป็น 50 คน ติวเข้มเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บการคุ้มครองผู้บริโภค • ย้ำปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต้องมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และเป็นธรรม

ข่าวทั่วไป Saturday May 19, 2018 15:42 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมผู้ขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ชำนาญการ (บุคคลภายนอก) เพื่อทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย รุ่นที่ 2 และมอบนโยบายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ชำนาญการ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ทั้งนี้ ผู้ชำนาญการที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยชุดใหม่ เป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นทั้งการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ชำนาญการเพื่อทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และมีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีในศาล

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จากการที่ประกันภัยเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเห็นได้จากรัฐบาลได้มีนโยบายให้นำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น ในขณะเดียวกันประเทศไทยได้ก้าวสู่ยุค 4.0 ธุรกิจประกันภัยได้มีการปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจและเป็นช่องทางขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้คาดว่าในอนาคตจะมีข้อพิพาทด้านประกันภัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย โดยปี 2561 ได้มีการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ชำนาญการ (บุคคลภายนอก) เพื่อทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย จำนวน 50 ราย เพิ่มจากปีก่อนหน้านี้ที่มีรายชื่อผู้ไกล่เกลี่ยขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 40 ราย และการอบรมที่จัดขึ้นนี้ก็เพื่อต่อยอดความรู้ด้านประกันภัยและพัฒนาการด้านประกันภัยให้ผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อพร้อมรับมือกับข้อพิพาทด้านการประกันภัยประเภทต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้จากการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการในปีที่ผ่านมาพบว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับประกันวินาศภัยที่ร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือ ข้อพิพาทเรื่องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 80 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมดที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย รองลงมาเป็นข้อพิพาทเรื่องค่าซ่อมรถ และค่าสินไหมทดแทนกรณีบาดเจ็บ สำหรับข้อพิพาทเกี่ยวกับประกันชีวิตที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือ การบอกล้างสัญญาประกันชีวิต กรณีไม่แถลงข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 รองลงมาเป็นการเรียกร้องเงินผลประโยชน์ตามเอกสารเสนอขายซึ่งแตกต่างจากเงื่อนไขตามกรมธรรม์ และข้อพิพาทเกี่ยวกับการเสนอขายโดยไม่ได้อธิบายเงื่อนไขและความคุ้มครองให้ชัดเจน ทำให้ผู้เอาประกันภัยหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดในการทำสัญญาประกันชีวิต ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีข้อมูลจากปัญหาข้อร้องเรียน และสามารถนำมาต่อยอดเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลขาธิการคปภ.ได้ให้ข้อแนะนำแก่ผู้ไกล่เกลี่ยใหม่ว่า การทำหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในแต่ละครั้งนั้น ข้อร้องเรียนบางกรณีอาจมีประเด็นข้อพิพาทที่ค่อนข้างซับซ้อน มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และเกี่ยวข้องกับประเด็นข้อกฎหมาย ดังนั้นผู้ไกล่เกลี่ยจึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ศึกษาประเด็นที่เป็นข้อพิพาทของเรื่องร้องเรียน รวมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยในวันที่นัดหมายไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ไกล่เกลี่ยจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ให้ทันต่อพัฒนาการและกติกาต่างๆด้านประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย คือ การปฏิบัติตนให้เป็นกลางมีความซื่อสัตย์สุจริตและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย จะต้องไม่มีฝ่ายใดรู้สึกถึงความไม่เป็นกลางหรือเกิดความไม่พึงพอใจ และไม่ควรชี้นำหรือโน้มน้าวคู่กรณีให้เร่งรัดตัดสินใจเพื่อยุติข้อพิพาท โดยจะต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเจรจา พูดคุย และตัดสินใจ เพื่อหาข้อยุติประเด็นพิพาทดังกล่าวร่วมกัน เพื่อให้ข้อพิพาทสามารถยุติลงได้ด้วยความพึงพอใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการปฏิบัติตนของผู้ไกล่เกลี่ยถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นน่าเชื่อถือในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ.

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย โดยมีระเบียบที่ชัดเจนรองรับการดำเนินการอย่างโปร่งใส และมีผู้ชำนาญการบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญมาทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยในการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยและเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเดิมการระงับข้อพิพาทของสำนักงาน คปภ. จะมีอยู่ 2 ช่องทาง คือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยเจ้าหน้าที่ และการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น การกำหนดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยทางเลือก ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค อันเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัยให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น”

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ