ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนประชาชนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรถึงร้อยละ 30 ของจำนวนผู้ประกอบอาชีพทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นชาวนาประมาณ 4 ล้านครอบครัว มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีถึง 59 ล้านไร่ ซึ่งอาชีพทำนานั้น ถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูงจากภัยทางธรรมชาติทั้ง น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ และแมลงศัตรูพืช ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น “การประกันภัยข้าวนาปี” จึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิตเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร โดยภายหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 สำนักงาน คปภ. ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers)” ประจำปี 2561 ในทันที จากการกำหนดพื้นที่กลุ่มเป้าหมายไว้ 10 จังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการไปแล้ว 8 จังหวัด โดยมีจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่ 9 ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรชาวนาไทยเป็นอย่างดี จากตัวเลขการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2561 (ยังไม่ปิดการขาย) พบว่ามีเกษตรกรทั้งที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไปทำประกันภัยข้าวนาปีกว่า 1.90 ล้านราย มีพื้นที่เอาประกันภัยถึง 27.24 ล้านไร่ คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 2,451 ล้านบาท
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2561 สำนักงาน คปภ. มีการลงพื้นที่รับฟังสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะตลอดจนให้ความรู้ด้านการประกันภัยข้าวนาปีแก่เกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ โดยมีการศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโรงเรียนชาวนา โครงการเกษตรอทิตยาทร ซแรย์ อ.เมืองสุรินทร์ และได้ไปพบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกันภัยข้าวนาปีที่อำเภอรัตนบุรี ซึ่งมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมากกว่า 300 คน รวมทั้งจากการรายงานข้อมูลของสำนักงาน คปภ. จังหวัดสุรินทร์ พบว่าในปี 2560 จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี มากเป็นลำดับ 4 ของประเทศ มีพื้นที่ปลูกข้าวถึง 2.88 ล้านไร่ และมีการเอาประกันภัยข้าวนาปีจำนวน 1.65 ล้านไร่ ถือเป็นจังหวัดที่มีอัตราการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงที่สุดในประเทศ ถึงร้อยละ 57.38 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดในจังหวัด ซึ่งในปีที่ผ่านมาจังหวัดสุรินทร์ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติค่อนข้างบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นกรณีอุทกภัย โดยมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งสิ้น 36 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยสุทธิ 134.47 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ประสบภัยเป็นประจำได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอศรีณรงค์ อำเภอสังขะ อำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอรัตนบุรี ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากการลงพื้นที่ครั้งนี้มาปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้การประกันภัยมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรไทยต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์มีความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดการอบรมความรู้การประกันภัยข้าวนาปี “Training for the Trainers” ประจำปี 2561 ขึ้น โดยว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวชื่นชมและขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่ได้จัดอบรมความรู้ให้กับเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและเจ้าหน้าที่ กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดและเจ้าหน้าที่ ประชาสัมพันธ์จังหวัด อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน สื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ท้องถิ่น ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัด และผู้จัดการสาขา และผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด เพื่อจะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวนาปีต่อไป
“ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนแล้ว ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดอุทกภัยตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบสามสิบปี พื้นที่เกษตร บ้านเรือน และทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกร ชาวนาไทย จึงอยากให้ใช้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงภัย ซึ่งโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 นี้จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มุ่งมั่นการทำงานทั้งในเชิงบูรณาการทำงานเชิงรุกกับหน่วยงานเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” ปี 2561 และสำนักงาน คปภ. จะลงพื้นที่จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดสุดท้าย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ และทำให้เกษตรกรเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผล นำไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิตและยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย