ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากกรณีแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยประสบอุบัติเหตุที่ อำเภอแม่สอดจังหวัดตากจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 30 ราย และเสียชีวิตถึง 20 ราย โดยทั้งหมดได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพียงอย่างเดียวเนื่องจากทางผู้ประกอบการไม่ได้มีการทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเอาไว้ให้ ซึ่งปัจจุบันเกิดปัญหาด้านสวัสดิภาพของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้วถึง 2.19 ล้านคน
ดังนั้น เพื่อเป็นการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม รวมถึงเป็นการลดภาระด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งของนายจ้าง และของภาครัฐ ตลอดจนลดความหนาแน่นของจำนวนผู้ป่วยต่างด้าวที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ สำนักงาน คปภ. จึงมีนโยบายในการขับเคลื่อนการระบบประกันภัยให้เข้าไปเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงแก่กลุ่มแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรงในการคุ้มครองและส่งเสริมให้แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกันที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าพบพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมจัดหางาน นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พลเอก เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงและได้รับสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัย โดยเน้นที่แรงแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนประกันสังคม ทั้งนี้ เรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมกำลังกันรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานมีระบบการประกันภัยเป็นเครื่องมือให้การบริหารความเสี่ยง และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้ใช้แรงงาน
โดยผลการประชุมหารือ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการผลักดันให้แรงงานต่างด้าวทุกคนมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย ซึ่งเดิมแรงงานต่างด้าวจะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม โดยจะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน แต่มีข้อยกเว้นไม่รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่มีอาชีพ รับใช้ในบ้าน ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นระบบประกันภัยจะเข้ามาเติมเต็มและให้ความคุ้มครองแรงงานในทุกอาชีพ รวมถึงร่วมมือกันในการจัดทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 สำหรับรถราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานนำร่องเป็นกระทรวงแรก
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำข้อมูล หรือข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้ใช้แรงงาน และกระทรวงแรงงานจะให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนกระบวนการให้ความรู้ดังกล่าว ในขณะที่ทั้งสองหน่วยงานจะบูรณาการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อตอบสนองต่อการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมืออย่างยั่งยืน
“ปัจจุบันการรับประกันภัยสำหรับคนต่างด้าวนั้นจะรับเฉพาะที่มีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) เท่านั้น ซึ่งหากเป็นการประกันภัยอุบัติเหตุจะพิจารณาจากลักษณะงานที่ทำ โดยมีการปรับเบี้ยประกันภัยตามลักษณะงานที่ทำ ดังนั้นกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับแรงงานต่างด้าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อตัวผู้เอาประกันภัยเอง ภาครัฐ และผู้ประกอบการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม และแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ตัวผู้เอาประกันภัยแล้ว ยังจะเป็นการสนับสนุนภาครัฐในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลการรับประกันภัยเพื่อใช้ในการพิสูจน์ตัวตนของแรงงานต่างด้าวอีกด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th