ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2561 เป็นแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกด้านทั้งการดำเนินงานของหน่วยราชการ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานราก โดยได้มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาระดับฐานราก เน้นจังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาประเทศด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ด้วยการแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบทั้ง “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ให้เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน” ที่มุ่งเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากสำคัญของประเทศนั้น
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวผ่านระบบประกันภัย โดยเร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประกันภัยในเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กับประชาชนทุกระดับสามารถใช้ระบบการประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมไทยมีความเข้มแข็ง มั่นคง ตลอดจนเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในปี 2560 สำนักงาน คปภ. ได้ริเริ่ม “โครงการ คปภ.เพื่อชุมชน” ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยได้นำภาคอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมลงพื้นที่รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกในชุมชนที่มีความแปลกใหม่และน่าสนใจ พร้อมกับแนะนำให้ประชาชนรู้จักบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. แบบครบวงจร (Mobile Unit) ที่มีทั้งด้านส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน การส่งเสริมการทำประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และประกันภัยประเภทต่างๆ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย และการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีความชำนาญ รวมทั้งได้เยี่ยมชมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ การทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนในชุมชน ตลอดจนได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชุมชนและการเรียนรู้ด้านประกันภัยออกสู่สาธารณชน โดยจัดทำเป็นรายการ คปภ. เพื่อชุมชนเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการประกันภัยในวงกว้าง เกิดประโยชน์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยได้ดี และได้รับเสียงตอบรับที่ดีรวมทั้งข้อเสนอแนะให้มีการปรับรูปแบบโครงการให้ลงพื้นที่ชุมชนในภาคต่างๆ ตลอดจนจัดโครงการนี้ต่อไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
โดยในปีนี้จะมีการลงพื้นที่ชุมชนที่คัดเลือกในภาคต่างๆ เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชน รวมทั้งสิ้น 5 ชุมชน โดยคัดเลือกจากชุมชนที่มีวัฒนธรรมของตนเองที่เป็นเอกลักษณ์ มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ และข้อมูลสำคัญด้านภูมิประเทศ ภูมิเศรษฐกิจ และภูมิสังคม รวมถึงข้อมูลความต้องการด้านประกันภัยของชุมชน และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับภายใต้กรอบภารกิจของสำนักงาน คปภ. โดยในปี 2561 นี้ได้เพิ่มรูปแบบการสร้างการรับรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ การถอดบทเรียนจากกรณีศึกษา (Case Study) ที่เกิดขึ้นจริงและสังคมให้ความสนใจ ซึ่งจะสามารถนำมาถ่ายทอดต่อให้กับคนในชุมชนได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการประกันภัยที่เกิดขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้ช่วยคิด พัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดส่งต่อองค์ความรู้ด้านการประกันภัยให้เกิดขึ้นภายในชุมชน เพื่อร่วมเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการในระดับพื้นที่ (Bottom-Up) และทิศทางในภาพรวมของระดับประเทศ (Top-Down) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศของทุกภาคส่วนต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า โครงการ คปภ.เพื่อชุมชน ปี 2 ได้เปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ณ ชุมชนตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย รวมถึงกองทุนประกันชีวิต และกองทุนประกันวินาศภัย ร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย รวมทั้งเยี่ยมชมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน โดยจะได้สนับสนุนให้ภาคธุรกิจประกันภัยทั้งบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ได้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับรูปแบบของการจัดกิจกรรม คปภ. เพื่อชุมชนในครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน การให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมฐานความรู้ประกันภัยสู่วิถีชุมชน โดยกำหนดลงพื้นที่ชุมชนที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนกู่กาสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด ชุมชนท่าสะท้อน จังหวัดชุมพร ชุนชนโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ชุมชนบ้านทุ่งเกวียน จังหวัดลำปาง และชุมชนบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย
“โครงการ คปภ.เพื่อชุมชน ปี 2 ถือเป็นโครงการเชิงรุกที่ใช้วิธีขับเคลื่อนองค์กร คปภ.ไปสู่ประชาชน แทนที่จะรอให้ประชาชนเข้ามาติดต่อที่สำนักงาน คปภ.เอง ทั้งนี้เป้าหมายของการดำเนินโครงการ ครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ของประเทศ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดจนเกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของการประกันภัย และสามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต และทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้สังคมไทยมั่นคง และเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th