ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีนโยบายพัฒนาคุณภาพด้านการบริการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Insurance Regulator ล่าสุดได้พัฒนาระบบการให้บริการรับชำระเงินผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Data Capture (EDC) เพื่อรองรับการชำระเงินแบบ QR Code กับธนาคารกรุงไทยด้วยระบบ KTB Corporate Online ที่เรียกดูรายการชำระเงินระหว่างวัน (Online Real Time) และสามารถ Download รายงานการชำระเงิน ณ สิ้นวันได้ นับเป็นการพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมการขอรับ/ขอต่อใบอนุญาตบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) สอดคล้องตามมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 สำหรับขอบข่ายการบริการออกใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยซึ่งระบบการให้บริการรับชำระเงินผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Data Capture (EDC) จะดำเนินการเต็มรูปแบบภายในเดือนกรกฎาคม 2561 นี้
สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลคุณภาพของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย เนื่องจากเป็นช่องทางการขายที่สำคัญและเป็นสื่อกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลด้านการประกันภัยถึงมือประชาชน โดยสิ้นไตรมาสแรกของปี 2561 ธุรกิจประกันภัยทั้งระบบมีตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 573,159 ราย ดังนั้นการนำเทคโนโลยีทางการเงินสำหรับการรับชำระค่าธรรมเนียมผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) เข้ามาใช้จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้ครบทุกรูปแบบ ทั้งการชำระด้วยเงินสด และเช็คเงินสด ซึ่งการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ยังรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินของสำนักงาน คปภ. ได้หลากหลายประเภท เช่น การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล แบบและข้อความ อัตราเบี้ย และทะเบียนบริษัท/สาขาฯ ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าธรรมเนียมต่างๆได้หลายช่องทางเพิ่มขึ้น ทั้งชำระผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย ATM Internet Banking Mobile Application Banking และผ่านเครื่อง EDC/QR Code
“ระบบการให้บริการรับชำระเงินผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Data Capture (EDC) จะเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกรวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและผู้ใช้บริการ ในอนาคตสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบการให้บริการด้านอื่นๆ เพื่อปรับปรุงระยะเวลาและลดขั้นตอนการให้บริการ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องตามความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) หรืออีเพย์เมนต์ ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และลดภาระการจัดการเงินสด เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ตามนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th