ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ตนพร้อมคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. จากส่วนกลางได้สนธิกำลังร่วมกับผู้อำนวยการ คปภ. ภาค 9 (สงขลา) ผู้อำนวยการ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่บริเวณตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตว่ามีการปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตและธนาคาร พ.ศ.2551 และประกาศ คปภ.เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัยและธนาคาร พ.ศ.2552 ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งพบว่าในภาพรวมมีการปรับปรุงที่ดีขึ้นตามข้อแนะนำของ สำนักงาน คปภ. แต่ยังมีในส่วนรายละเอียดที่จะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม เช่น บางธนาคารยังมีการติดป้ายคู่มือประชาชนในการซื้อประกันภัยผ่านทางธนาคารพาณิชย์ หรือ บัญญัติ 12 ประการ เพื่อการซื้อประกันภัยผ่านธนาคารในที่ที่ประชาชนสังเกตเห็นได้ยาก แบบฟอร์มใบสมัครบัตรเดบิตแบบที่พ่วงประกันมิได้ระบุให้ชัดเจนว่ารับประกันภัยโดยบริษัทประกันภัยใด ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตแบบที่พ่วงประกันยังไม่ได้แยกให้ทราบว่าค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเท่าใด จึงแนะนำให้รีบปรับปรุงและในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยหรือผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ที่พ่วงประกันภัยทุกครั้งให้อธิบายลูกค้าทราบชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยและให้ลูกค้าเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ประกันภัยและผลิตภัณฑ์ของธนาคาร รวมทั้งการซื้อประกันภัยของลูกค้าต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการเอาเปรียบประชาชนอันจะนำไปสู่การร้องเรียนในภายหลัง
ในการสุ่มตรวจการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้นอกจากจะเป็นการตรวจติดตามให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามกฎกติกาของ สำนักงาน คปภ. แล้วยังได้มีการทำความเข้าใจกับพนักงานของธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในประเด็นที่สำนักงาน คปภ.ยังไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ไปเคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย กรณีที่กฎกติกาของ คปภ. ยังไม่อนุญาตให้พนักงานของธนาคารพาณิชย์ไปเสนอขายประกันภัยถึงประตูบ้านของประชาชน ซึ่งได้รับข้อมูลว่าธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในรูปแบบดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยของประชาชนผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์และเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยจึงได้จัดทำคู่มือประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านทางธนาคารพาณิชย์โดยมีข้อปฏิบัติไว้ 12 ข้อ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากการสุ่มตรวจธนาคารพาณิชย์ ในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยในพื้นที่ภูเก็ตเสร็จสิ้นแล้ว ตนได้เป็นประธานประชุมกับชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเพื่อมอบนโยบายการกำกับดูแลการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง การกำกับดูแลการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารภายใต้กติกาใหม่ โดยมีพนักงานและผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกของชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมงานกว่า 200 คน ณ โรงแรมดารา จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ และนายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย ร่วมประชุมและบรรยายให้ความรู้ด้วย โดยเลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอนหนึ่งว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนกรณีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่เสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างตรงไปตรงมาและต้องแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าเป็นการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมทั้งต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เสนอขายนั้นมีค่าเบี้ยประกันประกันภัยจำนวนเท่าไรได้รับความคุ้มครองอย่างไรและจะมีการเก็บค่าเบี้ยประกันภัยลักษณะไหนมีบริษัทประกันภัยรายใดเป็นผู้รับประกันภัย และที่สำคัญการทำประกันภัยของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นไปโดยความสมัครใจห้ามมิให้มีการบังคับหรือใช้เป็นเงื่อนไขรายการต่อรองการให้สินเชื่อหรือธุรกรรมอื่นใดของธนาคารพาณิชย์
ที่มา: http://www.oic.or.th