ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้จัดงาน “มหกรรมการแสดงผลการดำเนินงานโครงการตามแนวทางประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 ณ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัลให้แก่โครงการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโครงการตัวอย่างในแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งมอบนโยบายในการพัฒนาโครงการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามแนวทางประชารัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 18,000 คน ประกอบด้วยผู้แทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจากทุกภาคทั่วประเทศ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้แทนของสถาบันการศึกษา สถาบันการเงินและสื่อมวลชน นั้น
สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมออกบูธนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. เพื่อให้ความรู้ด้านการประกันภัย ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กระบวนการในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย บทบาทของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กรมธรรม์ประกันภัยโคนม รวมทั้งแนะนำกรมธรรม์ประกันภัย 7 บาท และกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาทพลัส นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เยี่ยมชมบูธร่วมกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัล ฯลฯ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธของ สำนักงาน คปภ. และได้แสดงความสนใจการดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. โดยเฉพาะบทบาทในการกำกับส่งเสริมธุรกิจประกันภัยและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชนโดย เลขาธิการ คปภ. ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้ง โครงการตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนโครงการอื่นๆ เช่น การประกันภัยโคนม และการส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย พร้อมทั้งได้รายงานเรื่องที่ เลขาธิการ คปภ. นำคณะผู้บริหารของ สำนักงาน คปภ. และผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ซึ่งพบว่าประชาชนในพื้นที่ซึ่งประกอบอาชีพประมงได้รับความเสียหายมาก แต่ไม่มีระบบประกันภัยมาช่วยบริหารความเสี่ยง ทางสำนักงาน คปภ. จึงมีแนวคิดที่จะนำระบบประกันภัยการประมง (fishery insurance) เข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยอาจนำโมเดลทำนองเดียวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปีมาปรับใช้ในเรื่องนี้
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นด้วย โดยให้ความสนใจและซักถามข้อมูลต่างๆ พร้อมให้ข้อสังเกตว่าชาวประมงได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติมาก จึงแนะนำให้สำนักงาน คปภ. ทำการศึกษารูปแบบการประกันภัยที่จะเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเสียหาย อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติให้กับประชาชนที่ประกอบอาชีพประมง เนื่องจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ยังไม่มีระบบประกันภัยมาช่วยในการบริหารความเสี่ยงเหมือนกับอาชีพเกษตรกร จึงควรมีมาตรการการช่วยเหลือในเรื่องนี้ ซึ่งเลขาธิการ คปภ. ได้น้อมรับข้อแนะนำดังกล่าว โดยจะนำไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ที่มา: http://www.oic.or.th