ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าจากกรณีพายุโซนร้อนปาบึกพัดถล่มทางภาคใต้ของประเทศไทยจนก่อให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยผู้ประสบภัย จึงได้จัดประชุมหารือกับภาคธุรกิจประกันภัย และ สำนักงาน คปภ. ภาค 8 และ 9 (สงขลา) เพื่อติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การป้องกัน เยียวยา ฟื้นฟู โดยได้ขับเคลื่อนมาตรการเยียวฟื้นฟู 6 มาตรการ พร้อมลงพื้นที่ทำกิจกรรม CSR มอบสิ่งของเครื่องใช้และถุงยังชีพ ตลอดจนร่วมทำกิจกรรม Big Cleaning ณ พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชไปแล้ว นั้น
ล่าสุด เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านประกันภัยในการเยียวยาผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนที่ 4/2562 ลงวันที่ 15 มกราคม 2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และการจ่ายค่าสินไหมทดแทน สำหรับการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ประสบภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึกทางภาคใต้ตามรายงานสถานการณ์สาธารณภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยให้มีผลบังคับใช้ย้อนไปตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2562 ซึ่งคำสั่งนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินเอาไว้ใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1. สำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 2/2558 ลงวันที่ 27 มกราคม 2558 ให้พิจารณาค่าสินไหมทดแทนภายใต้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติข้อ 2.7 ภัยจากลงพายุ และ ข้อ 2.8 ภัยจาก น้ำท่วม เป็นจำนวน 20,000 บาท แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่คงเหลืออยู่ เว้นแต่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมีจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนเงินดังกล่าว
2. สำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 46/2558 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ให้พิจารณาค่าสินไหมทดแทนภายใต้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติข้อ 2.4 ภัยจากลมพายุ และข้อ 2.5 ภัยจากน้ำท่วม เป็นจำนวน 10,000 บาท แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่คงเหลืออยู่ เว้นแต่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมีจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนเงินดังกล่าว
3. สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองเดียวกันกับข้อ 1 และข้อ 2 ให้พิจารณาหลักเกณฑ์เทียบเคียงกัน
หากภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยตามข้อ 1, 2 และ 3 มีการแนบเอกสารแนบท้ายขยายความคุ้มครองสำหรับภัยลมพายุและภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมจากความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐาน ให้พิจารณาความเสียหายส่วนเกินกว่าความคุ้มครองมาตรฐานโดยพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า คำสั่งนายทะเบียนฉบับนี้นอกจากจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการประเมินความเสียหาย และจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ยังจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยลง อีกทั้งยังทำให้การพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมประกันภัย โดยจะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัยได้รับค่าสินไหมทดแทนรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย จัดเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน ประกอบด้วย หลักฐานและเอกสารพิสูจน์การเกิดเหตุ เช่น ภาพถ่ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงหลักฐานและเอกสารเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เช่น บันทึกรายการทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งหากมีการส่งมอบเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อประกอบการเบิกจ่ายแล้ว บริษัทประกันภัยจะสามารถดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 7 วัน
“สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุปาบึกเป็นอย่างยิ่ง และจะให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อยากฝากเตือนว่าอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และสามารถช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th