เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาคณะกรรมการสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินทั่วประเทศ ประจำปี 2562 ณ โรงแรมราชศุภมิตร อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายบวรศักดิ์ วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี คุณกิรดา ลำโครัตน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดกาญจนบุรี คุณบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และคุณอังสนา เกตุเวช ประธานการจัดงานฯ ให้การต้อนรับ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วยคณะกรรมการสมาคมตัวแทนฯจากทั่วประเทศ ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้เกี่ยวข้องรวมกว่า 500 คน การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี ยกระดับจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางวิชาการ พัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้มอบนโยบายที่สำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันภัย คือ การพัฒนาช่องทางการจำหน่าย ส่งเสริมและกำกับดูแลให้ตัวแทนประกันชีวิตมีมาตรฐานจรรยาบรรณและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตต่อประชาชน ดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัยภายหลังที่มีการขาย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย ทั้งนี้ เนื่องจากตัวแทนประกันชีวิต ถือเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ ทัศนคติที่ดีให้ประชาชนผู้เอาประกันภัย ดังนั้น ตัวแทนประกันชีวิตจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเองให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์ในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพ และพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันชีวิต ได้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรง จำนวน 627,559 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.55 การพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น ตัวแทนประกันชีวิต มีส่วนสำคัญในการขยายตลาด รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ และทัศนคติที่ดีให้ประชาชนผู้ทำประกันชีวิตเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันชีวิต ส่งผลให้ช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงสูงสุด จำนวน 305,408 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 48.56 ของเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงรวมทุกช่องทาง จึงถือได้ว่าตัวแทนประกันชีวิตเป็นผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนเป็นอย่างมาก
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 สำนักงาน คปภ. ได้บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการตลาดที่มีคุณภาพ มีความโปร่งใส เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งนี้ สาระสำคัญของประกาศฯ ฉบับนี้ ครอบคลุมทุกช่องทางการขายตั้งแต่ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ เทเลเซลล์ และไปรษณีย์ ส่วนช่องทางออนไลน์ทางอิเล็กทรอนิกส์จะยึดตามประกาศเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ยังมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล Insurance Core Principles (ICPs) ของ International Association of Insurance Supervisors (IAIS) สำหรับ มาตรฐาน ICP 18 คนกลางประกันภัย (Intermediaries) คือ มีธรรมาภิบาลที่เหมาะสม มีการกำกับดูแลคนกลางประกันภัยที่เหมาะสม และคนกลางประกันภัยต้องมีระดับความรู้และประสบการณ์รวมถึงคุณธรรมและประสิทธิภาพ และมาตรฐาน ICP 19 พฤติกรรมการดำเนินธุรกิจ (Conduct of Business) โดยกำหนดให้บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรและปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม และได้มีการปรับปรุงมาตรการลงโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการกำหนดมาตรการลงโทษตามลำดับชั้นของความผิด อันเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสำนักงาน คปภ. จะประกาศให้มีช่องทางอื่นๆ เพื่อให้มีกฎหมายครอบคลุมช่องทางที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตอีกด้วย
สำหรับการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (กลุ่มที่ 1) ซึ่งขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยจะมีผลใช้บังคับใน 180 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเษกษา ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อให้การกำกับดูแลตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจประกันภัย โดยมีการปรับปรุงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต รวมทั้งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติของตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความชัดเจน ตลอดจนกำหนดโทษในกรณีที่ตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกรณีมีการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งจะมีบทกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะ
“สำนักงาน คปภ. ต้องการให้การกำกับดูแลคนกลางประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งหนึ่งในความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. คือการเพิ่มการมีส่วนร่วมของบริษัทประกันภัยในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดช่องว่างการเสนอขายที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ทั้งธุรกิจประกันภัยและประชาชนเสียประโยชน์ รวมถึงเพิ่มบทบาทของบริษัทในการเข้ามาทำหน้าที่ป้องกันปัญหา (Prevention) ควบคู่ไปกับการคุ้มครอง (Protection) สิทธิประโยชน์ของประชาชนด้วย จึงเน้นย้ำให้ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่นำผลิตภัณฑ์ประกันภัยไปเสนอขายนั้นต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม และที่สำคัญคือต้องเพิ่มพูนความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับพัฒนาการทางการเงิน และการประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสามารถให้ข้อมูลกับลูกค้าได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุด” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th