ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์พายุโซนร้อน “โพดุล”และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ทำให้ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ออก 7 มาตรการด้านประกันภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างเป็นระบบไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้กำหนดมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 สำนักงาน คปภ. ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ประกอบด้วย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท
ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการ “คปภ.- ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม” เพื่อเป็นการฟื้นฟูหลังน้ำลด และแสดงความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย จากสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทย โดยจัดเป็นคาราวานมอบหม้อหุงข้าวและถุงยังชีพเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อคืนรอยยิ้มให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับการจัดคาราวานให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ได้ลงพื้นที่ 2 จุด คือ จุดแรก ณ ศาลา วัดเจริญศรีสุข ตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร โดยมีประชาชนผู้ประสบภัยมารับมอบหม้อหุงข้าวและถุงยังชีพเครื่องอุปโภค บริโภค จำนวน 300 ชุด และจุดที่สอง ณ ศาลาประชาวาริน เทศบาลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จำนวน 300 ชุด ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้มของชาวบ้านที่มารอรับสิ่งของดังกล่าว
นายคง สาระปัญญา ชาวบ้านตำบลไร่ใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จัดสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค มอบให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะหม้อหุงข้าว ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากน้ำท่วมในครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก อย่างไรก็ดีในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี ที่ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือและยังได้รู้จัก สำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลประชาชนเกี่ยวกับการประกันภัย ทำให้ชาวบ้านเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันภัยว่ามีความสำคัญอย่างมากในการบริหารความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หากเกิดภัยธรรมชาติก็จะได้รับการเยียวยาในรูปแบบของค่าสินไหมทดแทน โดยเฉพาะนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,260 บาทต่อไร่ ดังนั้น จึงอยากให้ สำนักงาน คปภ. และ ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย ที่มาลงพื้นที่ในครั้งนี้ กลับมาให้ความรู้ด้านประกันภัยกับชาวบ้านอีก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงต้องการเครื่องมือบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติในปีต่อๆ ไป
นายมนตรี พรมพาณิชย์ ประธานชุมชนท่าบ้งมั่ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้บ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ภายในครัวเรือนได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ สูญหายและล้มตายไปกับสายน้ำเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากให้ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยเข้ามาให้ความรู้ด้านประกันภัยกับชาวบ้าน เกี่ยวกับการทำประกันภัยสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ รวมทั้งการทำประกันภัยที่เกี่ยวกับภัยน้ำท่วม เนื่องจากชาวบ้านยังขาดความรู้ด้านประกันภัยในรูปแบบต่างๆ แต่ได้ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดจากภัยธรรมชาติกันมากขึ้น ดังนั้น จึงขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ที่นำเครื่องอุปโภคบริโภค มามอบให้ชาวบ้านในครั้งนี้
ด้านนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้สร้างความเสียหายให้ประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำลดเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ในช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่หน่วยงานภาครัฐเข้าฟื้นฟูบ้านเรือนให้กับประชาชน ในขณะที่ สำนักงาน คปภ. ได้เข้ามาดูแลในเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้านประกันภัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ทำประกันภัยเป็นอย่างมากที่จะได้นำเงินจากค่าสินไหม ไปฟื้นฟูบ้านเรือน รวมทั้งรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง จึงอยากให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีความรุนแรงและสร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการทำประกันภัยข้าวนาปี หากทำประกันภัยไว้ก็จะทำให้ประชาชนมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และในโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ที่ร่วมใจกันนำสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค มามอบให้กับพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า จากอุทกภัยครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ได้เร่งรัดให้บริษัทประกันภัยดำเนินการจ่ายค่าสินไหมแก่ผู้ประสบภัยทุกรายการเป็นการด่วน ส่วนความเสียหายในภาพรวมที่ได้ทำประกันภัยไว้นั้น ต้องรอเข้าสำรวจภัยภายหลังน้ำลด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าสำรวจความเสียหายในบางพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว ดังนั้น จึงฝากเตือนผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและได้จัดทำประกันภัยไว้ขอให้รีบตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการทำประกันภัยเท่าที่หาได้ เพื่อนำไปยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทที่รับประกันภัยต่อไป
“สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ระดมสรรพกำลังร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อรวบรวมเครื่องอุปโภค บริโภค ไปช่วยเหลือเยียวยาเป็นกำลังใจในครั้งนี้ ตลอดจนได้เร่งรัดเยียวยาด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งจากภัยธรรมชาติและภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ได้สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ระบบประกันภัยจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยเยียวยา ความเดือดร้อนจากภัยเหล่านั้นได้ จึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและหันมาทำประกันภัยให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือรองรับความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัวในอนาคต หากมีข้อสงสัยให้สอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th