เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยผลการประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ ห้องสมานสโมสร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยเคยเข้ารับการประเมินภาคการเงิน (FSAP) แบบ Voluntary Basis (สมัครใจ) ครั้งแรกเมื่อปี 2550 (2007) ซึ่งในการประเมินครั้งนั้น สาขาประกันภัยไม่ได้เข้าประเมินแบบเต็มรูปแบบ แต่เป็นการประเมินเฉพาะประเด็น (Focus Review) ซึ่งได้รับข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์มาก เป็นผลให้มีการจัดตั้ง สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ตลอดจนมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย การนำระบบการกำกับดูแลตามความเสี่ยงมาใช้ในภาคธุรกิจประกันภัย ตลอดจนมีการจัดตั้งกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย
สำหรับการเข้ารับการประเมินครั้งนี้ของสาขาประกันภัยถือเป็นการเข้ารับการประเมินอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกอย่างละเอียดครบทุกมิติในการกำกับดูแลด้านประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินจากหลักเกณฑ์ประกันภัยระหว่างประเทศ (ICP) ฉบับปรับปรุงล่าสุดของสมาคมหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยระหว่างประเทศ (IAIS) ทั้ง 26 ข้อ ซึ่งถือเป็นกติกาสากลด้านประกันภัยที่ทุกประเทศถือปฏิบัติตลอดจนการประเมินจากการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งมีคณะผู้ประเมินภาคการเงิน (FSAP) สาขาประกันภัยจาก World Bank ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก IMF เข้ามาประเมินในช่วงต้นปีนี้ โดยสำนักงานคปภ.ได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่ปี 2559 และมีการทดสอบประเมินตนเอง (self-assess) ในด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเป็นระยะๆ ทำให้ทราบจุดอ่อนจุดแข็ง และมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในหลายๆ ด้าน อย่างต่อเนื่องทำให้กติกาต่างๆสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ คณะผู้ประเมินได้มีการประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในระบบประกันภัย อาทิเช่น หน่วยงานภาครัฐ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และสมาคมประกันภัยทุกสมาคมตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการว่าผลการประเมินเต็มรูปแบบของสาขาประกันภัยของประเทศไทยในครั้งนี้เราผ่านการประเมินตามเกณฑ์ ICP ทั้ง 26 ข้อ โดยได้คะแนนในระดับที่ดีมาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการประเมินของประเทศอื่นๆที่ได้รับการประเมินแล้ว ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 4 ของโลก และเป็นลำดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียน ในจำนวนนี้ผ่านการประเมินในระดับ Observed (O) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จำนวน 10 ข้อ ผ่านการประเมินระดับ Largely Observed (LO) จำนวน 12 ข้อ และผ่านการประเมินระดับ Partly Observed (PO) จำนวน 4 ข้อ โดยไม่มีข้อใดที่ประเมินไม่ผ่าน ซึ่งในส่วนที่ผลการประเมินอยู่ในระดับ Partly Observed (PO) จำนวน 4 ข้อ ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะหลายข้อเป็นเรื่องที่สำนักงาน คปภ. เสนอขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปแล้วและขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่บางข้อเป็นเรื่องความร่วมมือในการกำกับดูแลระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือ MOU กับหลายประเทศ และอยู่ระหว่างการขยายผลให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ทั้งนี้จากรายงานการประเมินที่เป็นทางการชี้ว่าทิศทางการกำกับดูแลด้านประกันภัยของไทยเป็นไปอย่างถูกทาง มีพัฒนาการที่ดีสอดคล้องกับมาตรฐานสากล บุคลากรของสำนักงาน คปภ. มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ดี และมีประสิทธิภาพ และการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ในหลายๆ ด้าน มีการพัฒนาและส่งผลให้มีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เช่น กรอบการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง การกำกับคนกลางประกันภัยและพฤติกรรมทางการตลาด การดำรงเงินกองทุน การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ หนี้สิน สำรองประกันภัย และการกำกับดูแลเสถียรภาพระดับมหภาคในธุรกิจประกันภัย
“สิ่งสำคัญที่ทำให้สำนักงาน คปภ. ได้รับเกณฑ์การประเมินที่ดีนั้น มาจากการบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับดูแลทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง รวมทั้งความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จึงต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานมา ณ โอกาสนี้ นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานชัดเจนจากพัฒนาการในด้านต่างๆ ซึ่งมีทิศทางที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ผลจากการประเมินสาขาประกันภัยในระดับที่ดีมากครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อระบบการเงินของไทย แก่ทั้งคนไทยและนักลงทุนจากต่างประเทศ ว่าเรามีระบบบริหารความเสี่ยงที่น่าเชื่อถือตามกติกาสากล ทั้งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบประกันภัยของประเทศไทย เนื่องจากทำให้ทราบจุดอ่อน จุดแข็ง ของภาคธุรกิจและการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยไทย และที่สำคัญคือได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์หลายด้าน ที่จะสามารถนำมาปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากการประเมินในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะนำไปพิจารณาประกอบการกำหนดแนวทางในพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ทั้งในเรื่องการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศไทย และบูรณาการต่อยอดในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (2564 - 2568) เพื่อกำหนดกรอบทิศทางนโยบายในการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่น และส่งเสริมระบบประกันภัยสู่ระดับสากลต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th