คปภ. เตือน “ตัวแทนประกันภัย - นายหน้าประกันภัย - ผู้ประเมินวินาศภัย - บริษัทประกันภัย” เร่งปรับตัวรับมือกฏหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว

ข่าวทั่วไป Tuesday December 17, 2019 15:30 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “โครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย (กลุ่มที่ 1) และการปฏิบัติตามประกาศที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย” เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยในการปฏิบัติตามประกาศของสำนักงาน คปภ. ที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยและการได้รับบริการด้านการประกันภัยของประชาชน

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษมีใจความตอนหนึ่งว่า กฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมและมีผลบังคับใช้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยในหลายภาคส่วนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ โดยในส่วนของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยมีการปรับปรุงเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติ กรณีที่ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อวางมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการปรับปรุงเกี่ยวกับมาตรการลงโทษ ซึ่งแต่เดิมจะมีแค่การเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้นไม่ว่าการกระทำของตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยจะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่กฎหมายใหม่นี้ได้เพิ่มมาตรการในการพักใช้ใบอนุญาต รวมทั้งโทษปรับและจำคุกเพื่อให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ คือ ผู้ประเมินวินาศภัย ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการของผู้ประเมินวินาศภัยเป็นอย่างมาก ซึ่งแต่เดิมมีเพียงผู้ประเมินวินาศภัยที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่กฎหมายใหม่มีการกำหนดให้มีเพียงใบอนุญาตผู้ประเมินวินาศภัยประเภทนิติบุคคลเท่านั้น เนื่องจากในการประกอบธุรกิจประเมินวินาศภัยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผู้ประเมินวินาศภัยบุคคลธรรมดาจะรวมตัวกันดำเนินการภายใต้รูปแบบนิติบุคคล โดยในการกำกับดูแลผู้ประเมินวินาศภัยตามกฎหมายใหม่นี้ได้วางกรอบให้ผู้ประเมินวินาศภัยนิติบุคคลต้องมีระบบธรรมาภิบาลและบริหารจัดการที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของตนเอง โดย ผู้ประเมินวินาศภัยนิติบุคคลจะมีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินวินาศภัยในสังกัดของตน ซึ่งการตรวจสอบและประเมินวินาศภัยจะสามารถดำเนินการได้หลากหลายประเภทมากขึ้นหากอยู่ในรูปแบบนิติบุคคลที่มีบุคคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชาชีพ และการที่มีใบอนุญาตเพียงประเภทเดียวจะไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

กฎหมายฉบับใหม่นี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย ผู้ประเมินวินาศภัย และบริษัทประกันภัย อีก 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ ประเด็นแรก การดำเนินการใดๆ ที่กระทำโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงาน คปภ. สามารถกำหนดวิธีการในการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะได้ โดยในอนาคตอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้นวัตกรรมทางด้าน Insurtech หรือ RegTech ใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจประกันภัย และประเด็นที่สอง มีการกำหนดให้การฉ้อฉลประกันภัยเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกันภัย ซึ่งเดิมความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยไม่มีปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ส่งผลให้หากเกิดกรณีที่เข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยที่กระทบกับประชาชนทั่วไป สำนักงาน คปภ. สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ กับผู้ที่กระทำความผิดได้ นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินการจัดการกับการฉ้อฉลประกันภัยที่เกิดจากทั้งบุคคลที่อยู่ในธุรกิจประกันภัย และนอกธุรกิจประกันภัยโดยขณะนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกระบวนการในการดำเนินการเมื่อพบเหตุฉ้อฉลประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การจัดการอบรมในครั้งนี้ นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่แล้ว สำนักงาน คปภ. ยังได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลให้บริษัทประกันภัยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย หรือการคืนเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนผู้ที่มาใช้บริการด้านการประกันภัยโดยตรง ที่จะได้รับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดเหตุตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว และมีความสะดวกในการติดต่อเพื่อขอรับเงินดังกล่าว โดยที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ.ได้มีการออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย เพื่อกำหนดมาตรการในการจัดการจ่ายเงินหรือค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ตั้งแต่กระบวนการรับแจ้งเหตุที่เรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทน ช่องทางในการติดต่อประสานงาน ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาจ่ายเงินหรือค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนพิจารณาภายในบริษัทเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น โดยประกาศฉบับดังกล่าวใช้บังคับมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ซึ่งสำนักงาน คปภ. พบว่า บริษัทประกันภัยยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงในบางเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ทำให้อาจเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือตีความถ้อยคำทางกฎหมายไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของตัวประกาศ รวมไปถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประวิงการใช้เงิน การจ่ายค่าสินไหมทดแทน และการคืนเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นประกาศที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และ 2549 โดยเป็นการกำหนดเหตุที่จะถือว่าบริษัทประกันภัยมีการประวิงการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน หรือคืนเบี้ยประกันภัยแก่ประชาชนผู้ใช้บริการด้านการประกันภัย ซึ่งมีบทลงโทษแก่บริษัทประกันภัยที่กระทำการประวิงดังกล่าว

“กฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยที่มีการแก้ไขนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการด้านการประกันภัยโดยตรง ทำให้ได้รับการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดเหตุตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัยอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม ซึ่งธุรกิจประกันภัยต้องมีการบริหารจัดการการเรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างยุติธรรม โปร่งใส และภายในระยะเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งเป็นการป้องปรามการฉ้อฉลเกี่ยวกับการประกันภัย ทำให้การกำกับดูแลคนกลางประกันภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านการประกันภัย ดังนั้นจึงต้องมีการปรับจูนแนวปฏิบัติให้ตรงกันเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยให้กับประชาชน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ