ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถตู้ส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน ฮม 5010 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนท้ายรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียน 81-0766 เพชรบูรณ์ และรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน 81-4671 เพชรบูรณ์ บริเวณทางหลวงหมายเลข 21 ถนนหนองไผ่ – นาเฉลียง กม.170+500 ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวจากจังหวัดพัทลุงและคนขับรถตู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวน 5 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 8 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 โดยเบื้องต้น เลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกลยุทธ์องค์กร บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน คปภ. จังหวัดเพชรบูรณ์ และสำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) ในฐานะดูแลรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ตรวจสอบการทำประกันภัย และลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจาก สำนักงาน คปภ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ว่า รถตู้หมายเลขทะเบียน ฮม 5010 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 62-8-0605958-000141 เริ่มคุ้มครองวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 นอกจากนี้ยังได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจประเภท 1 ไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 62-1-0-211919 เริ่มคุ้มครองวันที่ 21 มีนาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 21 มีนาคม 2563 สำหรับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียน 81-0766 เพชรบูรณ์ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 02595-62502/กธ/9065885 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 ในส่วนของรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน 81-4671 เพชรบูรณ์ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 02595-62502/กธ/0539784 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2563
จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ในเบื้องต้นผู้เสียชีวิตที่โดยสารมากับรถตู้จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 400,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 300,000 บาท สัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 100,000 บาท ส่วนผู้ขับรถที่เสียชีวิตในเบื้องต้นจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 135,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,000 บาท และจากสัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 100,000 บาท ส่วนผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ จำนวน 8 ราย โดยแยกเป็นผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้โดยสารรถตู้จำนวน 6 ราย จะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับค่าสินไหมทดแทนจากประกันอุบัติเหตุ (PA) ที่เป็นสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ จำนวน 50,000 บาท รวมเป็น 130,000 บาท และผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุก 10 ล้อ และรถบรรทุก 6 ล้อ ในเบื้องต้นจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน สำหรับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์นอกเหนือจากนี้ ต้องรอผลคดีจากพนักงานสอบสวนก่อนว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท และหากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
สำนักงาน คปภ.จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการจ่าย ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บาดเจ็บและทายาทผู้เสียชีวิตโดยเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย เป็นคนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ติดต่อกับโรงพยาบาลเพชรบูรณ์เพื่อนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพิกุลทอง ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 4 ศพ และตั้งศพบำเพ็ญกุศลอีก 1 ศพ ที่บ้านเลขที่ 128 หมู่ 11 ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งสำนักงาน คปภ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประสานงานไปยังสำนักงาน คปภ. จังหวัดพัทลุง เพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตดังกล่าวอย่างเต็มที่
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชน ควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งเตรียมสภาพร่างกายให้มีความพร้อมในระหว่างการใช้รถใช้ถนนและหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัย จะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th