คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ผู้ประสบภัย กรณีมีการกราดยิงกลางใจเมืองโคราช เผยตรวจพบมีประกันภัยคุ้มครอง จึงเร่งบูรณาการเพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความสูญเสียและเดือดร้อนอย่างเต็มที่

ข่าวทั่วไป Monday February 10, 2020 15:30 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณี จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารสังกัดกรมสรรพาวุธ กองพันกระสุนที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ก่อเหตุสะเทือนขวัญใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิง ทหาร ตำรวจ และประชาชน หลังจากนั้นหลบหนีเข้าไปภายในห้างเทอร์มินอล 21 ซึ่งตั้งอยู่กลางใจเมือง จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมคนร้าย 30 ราย และบาดเจ็บ 58 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เบื้องต้น เลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสายกลยุทธ์องค์กร บูรณาการการทำงานร่วมกับ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ติดตามและลงพื้นที่ตรวจสอบว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า มีการทำประกันภัยประเภทใดไว้บ้าง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นจากสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) ว่า ห้างเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา มีการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ไว้กับบมจ.ทิพยประกันภัย กรมธรรม์เลขที่ 14016-114-200001384 เริ่มคุ้มครองวันที่ 18 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครอง วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีสัดส่วนของบริษัทประกันภัยที่ร่วมรับประกันภัย ดังนี้ บมจ.ทิพยประกันภัย 40% บมจ.ฟอลคอนประกันภัย 25% บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 15% บมจ.แอกซ่าประกันภัย 10% บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย 10% และ มีการทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) กรมธรรม์เลขที่ 14059-114-200000446 เริ่มคุ้มครองวันที่ 18 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 ธันวาคม 2563 รวมทั้งยังมีการทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ไว้กับบมจ. ชับบ์สามัคคีประกันภัย กรมธรรม์เลขที่ CPL0020608PL-21136 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 18 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยให้ความคุ้มครองในกรณีเกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก รวมถึงผู้เช่าภายในอาคารหรือพื้นที่เอาประกันภัย อันเนื่องมาจากความบกพร่อง การประมาทเลินเล่อความผิดพลาดในการดำเนินงานของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย และผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตามกฎหมาย ในฐานะเจ้าของหรือสถานที่ รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินคดี ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อบังคับข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคคภายนอก

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการทำประกันภัย ดังนี้ นางพัชรา จันทร์เพ็ง ทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม (อุ่นใจ) ไว้กับ บมจ.วิริยะประกันภัย เริ่มคุ้มครองวันที่ 23 มีนาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 23 มีนาคม 2563 และจัดทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล บัตร Palladium ไว้กับบมจ. ทิพยประกันภัย , นางสาวอาริยา กลีบเมฆ ทำประกันชีวิต ไว้กับ บมจ.กรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ ปี 2560 สิ้นสุดความคุ้มครอง ถึงอายุ 85 ปี และการประกันสินเชื่อ ไว้กับบมจ. ไทยประกันชีวิต , นายเอกวิน ยืนทน ทำประกันอุบัติเหตุกลุ่ม สำหรับสถานศึกษา ไว้กับ บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย , พลทหารเมธา เลิศสิริ ทำประกันอุบัติเหตุ ไว้กับ บมจ.เอ็มเอสไอจีประกันภัย , ดาบตำรวจชัชวาลย์ แท่งทอง ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Pearl) ไว้กับ บมจ.ทิพยประกันภัย , ร้อยเอกศิริวัฒน์ แสงประสิทธิ์ ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Pearl) ไว้กับ บมจ.ทิพยประกันภัย , นายอำนาจ บุญเกื้อ ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Pearl) ไว้กับ บมจ.ทิพยประกันภัย และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลผ่านธนาคารออมสิน ไว้กับบมจ.ทิพยประกันภัย , นายจิรวัฒน์ รัดกลาง ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Pearl) ไว้กับ บมจ.ทิพยประกันภัย เภสัชกรหญิงนริศรา โชติกลาง ทำประกันแบบเพนชั่น ช้อยส์ แม็กซี่ PN25 ไว้กับบมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) และทำประกันสินเชื่อ ไว้กับบมจ.ไทยประกันชีวิต นายพีรพัฒน์ พละสาร ทำประกันชีวิตกลุ่ม และประกันอุบัติเหตุ ขยายความคุ้มครองกรณีถูกฆาตกรรมหรือลอบทำร้าย ไว้กับบมจ.เมืองไทยประกันชีวิต

ในส่วนของผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการทำประกันภัย ดังนี้ เด็กชายเจริญศักดิ์ จำปาทอง ทำประกันอุบัติเหตุกลุ่ม สำหรับสถานศึกษา ไว้กับ บมจ.วิริยะประกันภัย เริ่มคุ้มครองวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 , นายสิทธิศักดิ์ วาดสูงเนิน ทำประกันอุบัติเหตุ ไว้กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัย , เด็กชายธีรวัฒน์ วัชรีเสวิน ทำประกันอุบัติเหตุกลุ่ม สำหรับสถานศึกษา ไว้กับ บมจ.วิริยะประกันภัย เริ่มคุ้มครองวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 , พลทหารโชคชัย มูลจันทร์ ทำประกันอุบัติเหตุ ไว้กับ บมจ.เอ็มเอสไอจีประกันภัย , พลทหารอรรถพล วงศ์พล ทำประกันอุบัติเหตุ ไว้กับ บมจ.เอ็มเอสไอจี ประกันภัย , นายทิพยา แก้วพรหม ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (บัตร SMART LIFE) และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับ บมจ.ทิพยประกันภัย , ดาบตำรวจสามชัย แพเกาะ ทำประกันชีวิตกลุ่ม และประกันอุบัติเหตุ (คุ้มครองการเสียชีวิตและสูญเสียอวัยวะ) ขยายความคุ้มครองกรณีถูกฆาตกรรมหรือลอบทำร้าย ไว้กับบมจ.เมืองไทยประกันชีวิต สำหรับผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งนั่งอยู่ในรถคันที่มีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ จะได้รับความคุ้มครองการประกันอุบัติเหตุตามเอกสารแนบท้ายตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อีกด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และบริษัทประกันภัย ได้เร่งตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทั้งหมดจากเหตุการณ์นี้มีการทำประกันภัยส่วนบุคคลประเภทอื่น ๆ ไว้หรือไม่ หากตรวจสอบพบว่ามีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ ส่วนผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี สำนักงาน คปภ.ภาค 4(นครราชสีมา) และ สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าเยี่ยมและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่ครอบครัวของผู้บาดเจ็บในการตรวจสอบว่าผู้บาดเจ็บมีประกันภัยประเภทอื่น ๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อใช้ระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาให้กับผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเต็มที่

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อันนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุเสมอ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท จึงควรทำประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ การประกันอุบัติเหตุ เพื่อนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเข้าไปเยียวยาความสูญเสียทั้งต่อตนเองและบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบ สำหรับกรณีที่ทำประกันภัยไว้แล้ว ก็ควรตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์เพื่อระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ