เลขาธิการ คปภ. นำทัพคนประกันภัย ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเปิดโครงการ “Training for the Trainers ประจำปี 2563” เพื่อสร้างเกราะด้านประกันภัยให้เกษตรกรรับมือภัยธรรมชาติและศัตรูพืชอย่างครบวงจร ภายใต้การคุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2020 15:12 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการคปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 45.7 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,910.39 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูการผลิต 2563 วงเงิน 313.98 ล้านบาท โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 ล้านไร่ และกำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และภัยจากศัตรูพืช หรือโรคระบาด โดยมติครม.ดังกล่าว ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีและกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบ และหลักเกณฑ์การรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2563 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2563 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2563 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2563 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยปีนี้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 5 ครั้ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ตาก กาฬสินธุ์ และ พัทลุง โดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดแรกในการลงพื้นที่พบปะเกษตรกร และเปิดโครงการ“Training for the Trainers”ประจำปี 2563 เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา จำนวน 263,263 ไร่ มีการทำประกันภัย จำนวน 72,344 ไร่ หรือคิดเป็นการเข้าถึงการประกันภัยอยู่ที่ร้อยละ 27.45 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีจำนวน 161 ไร่ มีการทำประกันภัยเพียง 1 ไร่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งบูรณาการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ

โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 คณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. คณะผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะวิทยากร ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ณ อาคารเอนกประสงค์ เทศบาลตำบลหัวสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ และรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนปัญหา เช่น กรณีพื้นที่เพาะปลูกไม่เคยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืชจะได้รับสิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเติมหรือไม่จากระบบประกันภัย หรือจะมีการประกันภัยสำหรับพืชชนิดอื่นๆ หรือไม่ เช่น มะนาว ชมพู่ เป็นต้น ซึ่งเลขาธิการ คปภ. และคณะฯ ได้ตอบข้อสงสัยต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป

สำหรับวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เป็นการจัดอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้แก่เกษตรกร ตาม “โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563” ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ให้การต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ในการจัดอบรมและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเป็นครั้งแรกในปีนี้ ภายใต้การคุมเข้มตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งการอบรมให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรี ที่จะสามารถนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อันจะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 นี้มีความพิเศษที่รูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. อัตราเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในส่วนความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 97 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนุนอีก 39 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรในกลุ่มนี้จะได้รับประกันภัยฟรี ส่วนเกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม จะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จ่ายเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเกษตรกรในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีเขียว) ได้รับประกันภัยฟรี ส่วนพื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง 152 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง (พื้นที่สีแดง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง 172 บาทต่อไร่ สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย โดยพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จ่ายเบี้ยประกันภัย 24 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง (พื้นที่สีแดง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 101 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)

กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปี 2563 จะให้ความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือ ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า โดยความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ตามความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 630 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2) จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่

สำหรับการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 ได้กำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย ตามกฎของจำนวนมาก (Law of Large Numbers) เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2562 แต่ได้มีการปรับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานในส่วนที่ 1 (Tier 1) และส่วนที่ 2 (Tier 2) ให้มีความสอดคล้องกับข้อมูลอัตราสถิติความเสียหาย (Damage Ratio) ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศ และอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ของการรับประกันภัย โดยกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยเป็นอัตราเดียวสำหรับการรับประกัยภัยในส่วนที่ 1 (Tier 1) และคงรูปแบบการรับประกันภัยเพิ่มเติมในส่วนที่ 2 (Tier 2) เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถขอเอาประกันภัยเพื่อรับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากส่วนที่ภาครัฐให้การอุดหนุนอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตามระดับพื้นที่ความเสี่ยงภัยในระดับอำเภอ ดังนี้ อัตราค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 1 (Tier 1) กำหนดค่าเบี้ยประกันภัยแบบอัตราเดียวอยู่ที่ 160 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกัน 64 บาท ต่อไร่ ดังนั้น ลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะได้รับประกันภัยฟรี ส่วนเกษตรกรทั่วไปหรือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม เบี้ยประกันภัย 160 บาทต่อไร่ รัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเอง 64 บาทต่อไร่ และเกษตรกรสามารถซื้อความคุ้มครองส่วนเพิ่มโดยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งในปีนี้ มีการแบ่งพื้นที่เป็นรายอำเภอเช่นเดียวกับการประกันภัยข้าวนาปี โดยพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (สีเขียว) เบี้ยประกันภัย 90 ต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) เบี้ยประกันภัย 100 ต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง (สีแดง) เบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่

กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ความคุ้มครองจากภัยธรรมชาติเช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี โดยให้ความคุ้มครองพื้นฐาน (Tier 1) อยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (Tier 2) อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดให้ความคุ้มครองพื้นฐาน (Tier 1) อยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (Tier 2) อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัย (Tier 1 และTier 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาทต่อไร่

“ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรนำด้วยระบบประกันภันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยง เพื่อแบ่งเบาภาระกรณีผลผลิตข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาดโดยเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สามารถทำประกันภัยข้าวนาปีได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สามารถทำประกันภัยข้าวนาปีได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถทำประกันภัยฤดูแล้ง ได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 และหากต้องการข้อมูลความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ แอพพลิเคชั่น “กูรูประกันข้าว” หรือ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ