คปภ. เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีรถกระบะเฉี่ยวชนรถพ่วง 18 ล้อ ที่จังหวัดสิงห์บุรี ประสานบริษัทประกันภัย นัดจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย วันที่ 19 มิ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Sunday June 14, 2020 15:45 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 1กภ-7365 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกพ่วง (หัวลาก) หมายเลขทะเบียน 70-1823 ปราจีนบุรี ตัวพ่วง หมายเลขทะเบียน 70-1824 ปราจีนบุรี และรถบรรทุกพ่วง (หัวลาก) หมายเลขทะเบียน 85-8018 สระบุรี และตัวพ่วง หมายเลขทะเบียน 86-6820 สระบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 7 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 บริเวณถนนสายเอเชีย ทางหลวงหมายเลข 32 มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์ หมู่ 5 ตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยเบื้องต้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสายกลยุทธ์องค์กร บูรณาการการทำงานร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสิงห์บุรี ลงพื้นที่ติดตามและตรวจสอบว่ารถยนต์กระบะ และรถบรรทุกพ่วงอีก 2 คัน ที่ประสบอุบัติเหตุมีการทำประกันภัยประเภทใดไว้บ้าง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้กับผู้ประสบภัยในครั้งนี้

ทั้งนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก สำนักงาน คปภ. จังหวัดสิงห์บุรี ว่า รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1กภ-7365 กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 001D/MC00-19-074338 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 001D/MA00-19-028341 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 27 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 27 ธันวาคม 2563 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาทต่อคน ทรัพย์สินบุคคลภายนอก 2,500,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อรถยนต์ 350,000 บาท ความเสียหายจากสูญหาย/ไฟไหม้ 350,000 บาท อุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 6 คน) 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล (7 คน) 100,000 บาทต่อคน และการประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาทต่อครั้ง

สำหรับบรรทุกพ่วง 18 ล้อ (หัวลาก) หมายเลขทะเบียน 70-1823 ปราจีนบุรี ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 03571-62208/กธ/9710461 เริ่มคุ้มครองวันที่ 17 ตุลาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 718-44331-2154/1 73 เริ่มคุ้มครองวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาทต่อคน ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย 1,400,000 บาท ความเสียหายจากสูญหาย/ไฟไหม้ 1,400,000 บาท อุบัติส่วนบุคคล กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 2 คน) 100,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อคน และการประกันตัวผู้ขับขี่ 450,000 บาทต่อครั้ง ส่วนตัวพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-1824 ปราจีนบุรี ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 08592-62208/กธ/0298842 เริ่มคุ้มครองวันที่ 17 ตุลาคม 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 719-44331-2153/1 00 เริ่มคุ้มครองวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาทต่อคน ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย 650,000 บาท ความเสียหายจากสูญหาย/ไฟไหม้ 650,000 บาท

และรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ (หัวลาก) หมายเลขทะเบียน 85-8018 สระบุรี ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 03980-62102/กธ/9374256 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2562 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 ไม่มีการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจไว้แต่อย่างใด ส่วนตัวพ่วง หมายเลขทะเบียน 86-6820 สระบุรี ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 08592-63203/กธ/0975417 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2564 ไม่มีการทำประกันภัยรถภาคสมัครใจไว้แต่อย่างใด

จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ เบื้องต้นผู้เสียชีวิตที่โดยสารมากับรถยนต์กระบะ จำนวน 3 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 600,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 500,000 บาท และเอกสารแนบท้ายประกันภัยรถภาคสมัครใจ (อุบัติเหตุส่วนบุคคล) จำนวน 100,000 บาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. จังหวัดสิงห์บุรี ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง และนัดจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต ทั้ง 3 ราย รวมเป็นเงิน 1,800,000 บาท ในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุมสำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์)

ส่วนผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอินทร์บุรี จำนวน 7 ราย แยกเป็นผู้บาดเจ็บที่โดยสารรถยนต์กระบะ จำนวน 1 ราย จะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 80,000 บาท และได้รับค่ารักษาพยาบาลจากประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตามเอกสารแนบท้ายประกันภัยรถภาคสมัครใจ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท รวมเป็น 180,000 บาท และผู้บาดเจ็บที่โดยสารรถพ่วง อีก 4 ราย จะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 80,000 บาท และได้รับค่ารักษาพยาบาลจากประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตามเอกสารแนบท้ายประกันภัยรถภาคสมัครใจ 100,000 บาทต่อคน (ซื้อความคุ้มครองสำหรับผู้โดยสารไว้จำนวน 2 คน) ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย เป็นผู้ขับขี่รถยนต์กระบะ และผู้ขับขี่รถบรรทุกพ่วง จะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 30,000 บาท และได้รับค่ารักษาพยาบาลจากประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตามเอกสารแนบท้ายประกันภัยรถภาคสมัครใจ ตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 100,000 บาท รวมเป็นรายละ 130,000 บาท

สำหรับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์นอกเหนือจากนี้ ต้องรอผลคดีจากพนักงานสอบสวนก่อนว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท และหากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย

"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชน ควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเตรียมสภาพร่างกายให้มีความพร้อมในระหว่างการใช้รถใช้ถนนและหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด และควรทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัย จะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ