ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 มีมติเห็นชอบร่างประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายในของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอ เพื่อปรับปรุงหลักการประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายในของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย พ.ศ. 2557 ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับประกาศฉบับอื่นของสำนักงานที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายในของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย พ.ศ. 2557 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีสาระสำคัญเพื่อให้บริษัทประกันภัยมีระบบการบริหารจัดการ หรือบรรษัทภิบาลที่ดี ส่งเสริมความมั่นคง มีความโปร่งใส เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เอาประกันภัย และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การตรวจสอบ และการควบคุมภายในของบริษัทประกันภัย โดยคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ รวมถึงบริษัทต้องจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระ และมีหน่วยงานตรวจสอบภายในและหน่วยงานดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทสามารถว่าจ้าง บุคคลภายนอกให้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายได้ โดยคณะกรรมการบริษัทยังคงความรับผิดชอบในงานที่มอบหมาย
ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายอนุบัญญัติที่ครบระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของประกาศเพื่อให้บริษัทประกันภัยมีโครงสร้างการจัดการและการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดโครงสร้างการจัดการเพื่อความมั่นคง และเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและการตรวจสอบของบริษัทประกันภัย รวมถึงเพื่อให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับประกาศฉบับอื่นของสำนักงานที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยปรับปรุงสาระสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรก ปรับปรุง “คำนิยาม” เช่น คำว่า “กรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน” เป็น “กรรมการที่เป็นผู้บริหาร” และส่วนที่ 2 ปรับปรุงโครงสร้างการกำกับดูแล/ขั้นตอนการดำเนินงาน ได้แก่ การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยกำหนดให้ประธานกรรมการตรวจสอบต้องเป็นกรรมการอิสระในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเดิมจะกำหนดเพียงคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจสอบเท่านั้น ปรับปรุงการจัดทำระเบียบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน โดยกำหนดให้ระเบียบการปฏิบัติงานดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการชุดย่อยอื่นที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้เกิดความยืดหยุนต่อการปฏิบัติงานจริง ซึ่งการมอบหมายยังคงเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ปรับปรุงการกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ให้มีการตรวจสอบ ประเมินความเสี่ยงและแนวทางการบริหารจัดการทุจริต ซึ่งบริษัทอาจมอบหมายให้หน่วยงานอื่นภายในบริษัทที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นสอดคล้องกับมาตรฐานการตรวจสอบภายใน และปรับปรุงการกำหนดให้หน่วยงานดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการชุดย่อยที่มีหน้าที่ติดตามการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ ซึ่งมีความเป็นกลาง โดยต้องคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจ และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากรูปแบบโครงสร้างหน่วยงานดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนของการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับกระบวนการทำงานของบริษัท ให้เป็นกระบวนการทำงานหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย ซึ่งการปรับปรุงสาระสำคัญดังกล่าว จะส่งผลให้บริษัทประกันภัยมีโครงสร้างการจัดการและการควบคุมภายในที่เป็นไปตามหลักการป้องกัน 3 ชั้น (Three lines of Defense) ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดโครงสร้างการจัดการเพื่อความมั่นคง และเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและการตรวจสอบของบริษัทประกันภัย
“ในการปรับปรุงประกาศฉบับนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคธุรกิจประกันภัย และยังได้ศึกษาหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการประชุมชี้แจงซักซ้อมแนวทางปฏิบัติร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้บริษัทประกันภัยเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่ประกาศฯ กำหนด อันจะส่งผลทำให้คณะกรรมการของบริษัทประกันภัยมีบทบาทและมีส่วนร่วมที่ชัดเจนในการสร้างธรรมาภิบาลภายในองค์กร ด้วยระบบบริหารจัดการที่ดี มีความโปร่งใส เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เอาประกันภัย สำหรับขั้นตอนต่อไปของการดำเนินการตามประกาศฯ ฉบับนี้สำนักงาน คปภ. จะเสนอให้ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ด คปภ.ลงนามในประกาศฯ ฉบับปรับปรุงนี้ เพื่อให้มีผลบังคับต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th