ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาในหัวข้อ ?ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME? ณ โรงแรมเชียงคาน ริเวอร์ เมาท์เทน รีสอร์ท จังหวัดเลย จัดโดยสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงานคปภ.) เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านประกันภัยในเชิงรุกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ได้เข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ความคุ้มครอง ข้อยกเว้น ของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบุคคลหรือธุรกิจของตนเอง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัดเลย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตัวแทน นายหน้าประกันภัย อาสาสมัครประกันภัย และผู้ประกอบการธุรกิจ SME หลากหลายประเภท จำนวนกว่า 150 คน โดยได้รับเกียรติจากนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้การต้อนรับและได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดเลย เป็นพื้นที่เป้าหมายในการให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SME ในพื้นที่จังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้นเวทีการสัมมนาให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้จึงมีความสำคัญ และมีคุณค่ายิ่ง ที่เลขาธิการฯ นำทีมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. มาลงพื้นที่เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยด้วยตัวเอง จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการธุรกิจ SME ในจังหวัดเลย ที่จะคลายข้อสงสัยในทุกแง่มุมต่างๆ ของการทำประกันภัยให้เกิดความกระจ่างจากเวทีการสัมมนาในครั้งนี้ และขอให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME เร่งนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยโดยเร็ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยที่ดีให้กับธุรกิจของตนเอง
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ?ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME? โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นในการให้ความรู้ด้านประกันภัยกับผู้ประกอบการธุรกิจ SME มาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME ในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Package ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่รวมความคุ้มครองหลักสำหรับการประกันอัคคีภัยอาคาร ทรัพย์สินภายในอาคาร สต๊อกสินค้า เครื่องจักร การประกันภัยเงินทดแทนการสูญเสียรายได้ การประกันภัยโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย การประกันภัยสำหรับกระจก การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกและการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการ SME ลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ในกรณีที่สถานประกอบการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ภัยพิบัติ น้ำท่วม นอกจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตัวอาคารและปรับปรุงภายในอาคารแล้ว ในระหว่างที่กำลังซ่อมแซมอยู่นั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ไม่สามารถประกอบกิจการได้เป็นระยะเวลาเท่าไรและขาดรายได้จากการที่ไม่สามารถประกอบกิจการเป็นจำนวนเงินเท่าใด ตัวกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้ประกอบการ SME ทำไว้จะเข้ามาบริหารความเสี่ยงในจุดนี้ทันที แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการทำประกันภัย คือ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME จะต้องมีความเข้าใจว่าธุรกิจของตนเองมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกการประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่ธุรกิจของตนที่จะต้องเผชิญเนื่องจากการประกันภัยมีความคุ้มครองที่หลากหลาย เช่น การประกันอัคคีภัย เป็นการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินเมื่อเกิดเพลิงไหม้ การประกันภัยความรับผิด เป็นการให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เป็นการให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ เป็นต้น
สำหรับการลงพื้นที่ของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ในครั้งนี้ มีความแตกต่างไปจากปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจ SME ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ก่อนถึงวันจัดงานสัมมนา 1 วัน ตนและคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่สำรวจธุรกิจ SME ย่านถนนคนเดินเชียงคาน พบว่า มีประชาชนหลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายใช้สอยสินค้ากันอย่างคึกคัก ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ในพื้นที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวากันอีกครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดเลย ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อนท่ามกลางสายหมอกปกคลุมเหนือยอดภู ซึ่งอุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้นานาชนิด ที่รู้จักกันดีคือ ภูกระดึง ภูหลวง และภูเรือ รวมถึงอำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง แต่ยังคงกลิ่นไอของวัฒนธรรม ขนบประเพณี การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง ทั้งยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จังหวัดเลย กลายเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม การค้า และการลงทุนภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละปีจังหวัดเลยจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการประกอบธุรกิจ SME ในพื้นที่อย่างหลากหลาย เช่น การประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขนมของฝาก มีการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สัปปะรด แมคคาเดเมีย แก้วมังกร และทำปศุสัตว์ โดยมีสัตว์เศรษฐกิจ เช่น โคเนื้อ โคนม กระบือ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SME เกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป บริหารความเสี่ยงภัยหากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ดีของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME ในมุมมองของการทำประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของการทำกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยว่ามีทั้งประเภทที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำ และประเภทสมัครใจ เพื่อทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขความคุ้มครอง และข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการยกระดับการประกอบธุรกิจ SME ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน อย่างแท้จริง
?การประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว และถ้ากลุ่มธุรกิจ SME ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสายป่านไม่ยาวมาก รู้จักใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำนักงาน คปภ. มีภารกิจสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย ตลอดจนช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ ในขณะเดียวกันถ้าหากทำประกันภัยแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม สำนักงาน คปภ. ก็มีหน่วยงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัย โดยมีระบบการรับเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถในการประกันภัย โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน คปภ. ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม ได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th