คปภ. ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม เปิดโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.”

ข่าวทั่วไป Friday November 27, 2020 15:19 —คปภ.

คปภ. ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม เปิดโครงการ ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย พร้อมแนะประชาชนติดต่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หากเกิดอุบัติเหตุจากรถ แต่เบิกค่าเสียหายเบื้องต้นจากใครไม่ได้

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) มอบหมายให้นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานเปิดงาน ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยรถภาคบังคับ หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. และบทบาทหน้าที่และภารกิจของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน คปภ. ผู้บริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครปฐม และประชาชนทั่วไป

นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (รองเลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่ในการจ่าย ?ค่าเสียหายเบื้องต้น? ให้กับผู้ประสบภัยจากรถ สำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต จำนวน 35,000 บาท หรือค่าสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร จำนวน 35,000 บาท รวมกันแล้วสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท ใน 6 กรณี ได้แก่ 1) กรณีที่รถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยไม่จัดทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเจ้าของรถไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไม่ครบถ้วน 2) กรณีรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายมิได้อยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถในขณะเกิดเหตุ เพราะถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ และได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว 3) กรณีรถนั้นไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของรถและไม่จัดทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 4) กรณีถูกชนแล้วหนี หรือไม่อาจทราบได้ว่าความเสียหายเกิดจากรถคันใด 5) กรณีบริษัทไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยหรือจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไม่ครบจำนวน หรือ 6) กรณีรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นรถที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย โดยเมื่อจ่ายไปแล้ว กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย มีหน้าที่ต้องติดตามเรียกเงินค่าเสียหายเบื้องต้นพร้อมเงินเพิ่มคืนจากเจ้าของรถ หรือผู้กระทำผิดต่อไป นอกจากนี้เจ้าของรถที่ฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และคนใช้รถที่ฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เช่นกัน

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจในบทบาทหน้าที่และภารกิจของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชนให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ หรือประกันภัย พ.ร.บ. และโทษของการไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ในหัวข้อเรื่อง ?ประโยชน์ของการประกันภัย พ.ร.บ. และบทบาทหน้าที่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย? พร้อมปล่อยขบวนคาราวานรถจักรยานยนต์กว่า ๑๐๐ คัน และกิจกรรมการออกบูธประชาสัมพันธ์ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และหน่วยงานเครือข่าย ประกอบด้วย บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย พร้อมให้บริการแนะนำปรึกษาด้านการประกันภัยกับ ?คลินิกกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย? รวมถึงการจัดมินิคอนเสิร์ตและกิจกรรมสันทนาการเล่นเกมแจกของรางวัลต่าง ๆ อีกมากมาย โดยในปีนี้ ได้กำหนดจัดงาน ?ขับขี่ปลอดภัย อุ่นใจไปกับ พ.ร.บ.? จำนวน 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นครราชสีมา และจังหวัดพิษณุโลก

?พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถทุกคนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงที จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อทำหน้าที่ในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถทุกคนที่ไม่อาจเข้าถึงสิทธิจากการประกันภัยได้ โดยผู้ประสบภัยจากรถสามารถติดต่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้ที่สำนักงาน คปภ. (ส่วนกลาง) และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ขอฝากมายังประชาชนควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ และหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด และควรทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และการประกันภัยอื่น ๆ เช่น การประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186? รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ