ปันอุ่น ปันอิ่ม ให้พี่น้องชาวเหนือ? ด้วยการส่งมอบเสื้อกันหนาว ผ้าห่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง ณ วัดห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พร้อมพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยพืชผล - ผลไม้ท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของชาวชุมชน
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน 2563 ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัย ผู้จัดการกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต ผู้แทนกองทุนประกันวินาศภัย ผู้บริหารสมาคมประกัน
วินาศภัยไทย ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย กว่า 10 บริษัท ลงพื้นที่ชุมชนบ้านปางห้า ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในรูปแบบ Insurance Mobile Unit ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยในแขนงต่าง ๆ เชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ?เหนือสุดใต้ ตะวันออกสุดตะวันตก? โดยมีการลงพื้นที่ใน 5 ชุมชน ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภาคตะวันตก ชุมชนบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออก ชุมชนบ้านแหลมมะขาม อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชุมชนนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ครั้งที่ 4 ภาคใต้ ชุมชนบ้านวังหอน อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และครั้งที่ 5 ภาคเหนือ ชุมชนบ้านปางห้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ในการลงพื้นที่เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชนภาคเหนือครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งสุดท้ายของโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งมอบความสุข ความอบอุ่น และเป็นการส่งท้ายโครงการฯ ในซีซั่นนี้ สำนักงาน คปภ. จึงร่วมกับ ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จัดคาราวาน CSR
?ร่วมใจด้านภัยหนาว ปันอุ่น ปันอิ่ม ให้พี่น้องชาวเหนือ? ด้วยการส่งมอบเสื้อกันหนาว ผ้าห่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง ให้กับพี่น้องชุมชนภาคเหนือ ณ วัดห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
สำหรับการลงพื้นที่ชุมชนบ้านปางห้าในครั้งนี้ คณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้เยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านปางห้า ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีฐานการเรียนรู้หลัก คือ ฐานเรียนรู้การทำกระดาษสา ซึ่งปัจจุบันโรงงานกระดาษสาจินนาลักษณ์ ได้มีกิจกรรมเด่นให้กับวงการผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ สปามาร์คหน้าใยไหมทองคำที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งในระดับประเทศและระดับโลก นอกจากนี้ยังมีฐานเรียนรู้บ้านเทียน ฐานเรียนรู้บ้านตีมีด ฐานเรียนรู้บ้านเกษตรอินทรีย์ ฐานเรียนรู้บ้านหยก ฐานเรียนรู้บ้านจักสาน ฐานเรียนรู้สถานีบ่มใบยา โดยมีนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับอย่างอบอุ่น และขอบคุณสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ที่นำความรู้ในเรื่องของการประกันภัยถ่ายทอดสู่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการประกันภัยพืชผล อันจะเกิดประโยชน์ต่อชาวชุมชนบ้านปางห้า ซึ่งจะสามารถนำมาปรับใช้บริหารความเสี่ยงภัยได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนต่อไป
ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. ได้เข้าเยี่ยมชาวชุมชนด้วยการเคาะประตูบ้าน เพื่อรับฟังสภาพปัญหา และความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลที่ได้กลับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งมีการถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของ นายพุฒิ แก้วศักดิ์ ชาวบ้านในชุมชนปางห้า โดยให้ข้อมูลว่า ชาวชุมชนปางห้า มีความรู้ ความเข้าใจในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สินน้อยมาก เนื่องจากเป็นชุมชนในถิ่นทุรกันดาร หรือ ชุมชนชายขอบเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำระบบประกันภัยเข้ามาเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยที่จ่ายเบี้ยประกันภัยในราคาถูก เนื่องจากครอบครัวของตนมีอาชีพปลูกข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยศัตรูพืช แต่ไม่ได้ทำประกันภัยตามโครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเบี้ยประกันภัยฟรีกับเกษตรกรทุกปี จึงทำให้เสียโอกาสในการรับค่าชดเชยจากการทำประกันภัยดังกล่าว นอกจากนี้ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้ภายในครอบครัวเกือบทุกคันก็ไม่ได้ทำประกันภัย ทั้ง พ.ร.บ.และภาคสมัครใจ ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ จึงเสียโอกาสในการรับค่าชดเชยต่าง ๆ ที่พึงมีพึงได้จากระบบประกันภัย และยังต้องควักเงินจ่ายค่าเสียหายต่าง ๆ เองอีกด้วย ซึ่งบางครั้งต้องเป็นหนี้เป็นสินทำให้ครอบครัวมีต้นทุนในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยให้กับชาวบ้านที่เป็นชุมชนชายขอบ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้านกลุ่มนี้ด้วย
ด้าน ดร. ธีรพล สุรพรหม ผู้นำชุมชนบ้านปางห้า กล่าวว่า ชุมชนบ้านปางห้า เป็นชุมชนเล็ก ๆ ในตำบลเกาะช้าง มีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด และพืชผลทางการเกษตรที่กำลังเป็นที่นิยม คือ ฝรั่งกิมจู ซึ่งชาวชุมชนมีความต้องการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่สำนักงาน คปภ. ได้ลงมาพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการประกันภัย และเพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับการดำเนินวิถีชีวิตของชาวชุมชน ดังนั้น จึงอยากให้สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เร่งศึกษาและพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยผลไม้ท้องถิ่นให้ตรงตามความต้องการของชาวชุมชนบ้านปางห้าและพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ชาวชุมชนบ้านปางห้าและชาวเชียงรายได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องประกันภัย โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยโควิดในสถานการณ์ที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายล่าสุดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมทั้งการให้ความรู้การทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การทำประกันภัย พ.ร.บ. การทำประกันรถ (ภาคสมัครใจ) ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย นำกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. มาแจกให้กับชาวชุมชนจำนวน 100 ฉบับด้วย รวมทั้งได้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัยระหว่างสำนักงาน คปภ. กับชาวชุมชนบ้านปางห้าในรูปแบบการเสวนาภายใต้หัวข้อ ?ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน? โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองอย่างเข้มข้น
?การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นการส่งท้ายโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 ในซีซั่นนี้ ภายใต้แนวคิด ?เหนือสุดใต้ ตะวันออกสุดตะวันตก? โดยสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย นำระบบประกันภัยส่งถึงประตูบ้านชาวชุมชนในรูปแบบ Insurance Mobile Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรมประกันภัยอย่างยั่งยืน โดยมีการถ่ายทำเป็นรายการซีรีย์
?คปภ. เพื่อชุมชน? เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชุมชนควบคู่ไปกับองค์ความรู้ด้านประกันภัย และนำไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่องอัมรินทร์และสื่อออนไลน์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านประกันภัยในวงกว้างต่อไป? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th