เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังบุคลากรสำนักงาน คปภ. มุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำบุคลากรมีศักยภาพสูง กระบวนการทำงานมีความคล่องตัว และขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด?ทันโลก ก้าวไกล ร่วมใจ ใฝ่คิด พิชิตเป้าหมาย?
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาพนักงาน คปภ. ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด OIC 5G ? ปลุกไฟ..ให้ลุกโชน ?ทันโลก ก้าวไกล ร่วมใจ ใฝ่คิด พิชิตเป้าหมาย? โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินงานปี 2563 และแนวทางการดำเนินงานในปี 2564 พร้อมมอบนโยบายให้กับพนักงานและลูกจ้าง สำนักงาน คปภ. ณ โรงแรม เดอะ กรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ในช่วงปี 2563 สำนักงาน คปภ. ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ COVID ? 19 ที่ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสในการปรับกระบวนการและวิธีการทำงานแบบใหม่ ภายใต้การรักษาระยะห่างทางสังคม Social distancing โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานและภาคธุรกิจประกันภัย ที่ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ ได้ด้วยดี โดยผ่านมาตรการต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ (New Product Development) ที่ตอบสนองพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน หรือตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ ส่งเสริมการเข้าถึงระบบประกันภัยและการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยแก่ประชาชน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย โดยเฉพาะกรณีการเกิดอุบัติภัยรายใหญ่ การจัดทำแนวทางปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรองรับ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติ Regulatory Guillotine Project เพื่อลดละ เลิกกฎหมายที่ล้าสมัย หรือไม่จำเป็น การพัฒนาระบบงาน OIC Gateway การพัฒนาแอพพลิเคชั่นคนกลาง ForSure และการเพิ่มหลักเกณฑ์เรื่อง Digital Face to Face การเพิ่มช่องทาง OIC Chatbot เพื่อตอบปัญหาด้านการประกันภัย การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับกรมการปกครอง และข้อมูลการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับกับกรมการขนส่งทางบก การกำหนดทิศทางให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (CIT) เป็น One Stop Service ด้านการประกันภัย มุ่งสู่การเป็น InsurTech Hub ของภูมิภาคอาเซียน การพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย ใน SandBox การเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (IFRS17) เรื่องสัญญาประกันภัย จัดทำข้อเสนอแนะหรือแนวปฏิบัติ (Guidelines) ประเมินความพร้อมและผลกระทบ (Gap and Impact Analysis) ทั้งของบริษัทประกันภัยและสำนักงาน คปภ. ส่งเสริมให้ระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐ เป็นต้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายการดำเนินงานในปี 2564 ต้องเร่งขับเคลื่อนดำเนินการ ตามทิศทางยุทธศาสตร์ เป้าหมายที่คาดหวัง และกิจกรรมที่สำคัญ (Top Priorities) ตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นนโยบายในการกำหนดทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย เพื่อให้ ?ระบบประกันภัยไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าถึงการประกันภัยและใช้ประโยชน์ในการรองรับความเสี่ยง? แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี ที่เป็นเสมือนเข็มทิศกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ที่มีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมและเท่าทันกับสภาพแวดล้อมในอนาคต แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 3 (IT Master Plan) เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรกำกับดูแลดิจิทัลที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน ลดการใช้กระดาษ (Paperless) และใช้เทคโนโลยีและข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจและสนับสนุนการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชน และแผนกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ระยะ 3 ปี เพื่อพัฒนาและยกระดับการทำงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานภายใต้ธีม ?SMART HR, SMART People, SMART OIC?โดยดำเนินการให้ครอบคลุมใน 4 มิติ คือ 1) มิติการปรับเปลี่ยน โดยการปรับเปลี่ยนและเพิ่มมิติการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือความเสี่ยงใหม่ และสอดคล้องกติกาสากล อาทิ ศึกษามาตรการและแนวทาง (Policy tools) ในด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย การลงทุน และเงินกองทุน พัฒนากระบวนการกำกับดูแลแบบอัตโนมัติ รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ในการกำกับและตรวจสอบธุรกิจประกันภัย และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่สะท้อนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) อย่างเป็นรูปธรรม 2) มิติการเชื่อมั่น โดยสร้างความเชื่อมั่นและปลูกฝังค่านิยมด้านการประกันภัยด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและกลไกที่เป็นธรรม พัฒนาเครื่องมือ วิธีการและช่องทางใหม่ๆ ในการให้ความรู้ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้การประกันภัยสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของคนกลางประกันภัย และจัดทำมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติในการให้บริการด้านการประกันภัยที่ดี รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือของสำนักงาน คปภ. ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ทั้งในด้านการพัฒนาระบบงาน กระบวนการทำงานที่รวดเร็ว ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยง 3) มิติการก้าวล้ำ โดยสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวให้ทันกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการทดสอบนวัตกรรมในโครงการ Insurance Regulatory Sandbox ให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว พัฒนาระบบฐานข้อมูลการประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) และฐานข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (Claim Database) พัฒนากรอบและเครื่องมือในการประเมินความพร้อมด้านการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Resilience assessment framework: CRAF) และสร้างกลไกความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเงิน ขยายบทบาท CIT ให้เป็น One Stop Service สำหรับบริษัทประกันภัยและ Startup รวมถึงสร้างเครือข่ายและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการประกันภัย และ 4) มิติการพัฒนา โดยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ความเสี่ยง (Risk Landscape) ของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น (time to market) ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งเสริมและขยายผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นและตอบสนองความต้องการของประชาชนที่หลากหลายมากขึ้น ผลักดันการประกันสุขภาพภาคเอกชน (Private Health Insurance) และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดอุปสรรคและปัญหาของการประกันสุขภาพ และนำประกันสุขภาพไปต่อยอดสวัสดิการรักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันสุขภาพได้อย่างแพร่หลาย ในราคาที่เหมาะสม ศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางในการเพิ่มบทบาทของการประกันภัยในการรองรับความเสี่ยงของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ ศึกษาและพัฒนาแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพในการรับเสี่ยงภัยของประเทศในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทความเสี่ยง และความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย
ในโอกาสนี้ ยังได้เชิญคุณอรพิมพ์ รักษาผล หรือ คุณเบส วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก มาบรรยายพิเศษหัวข้อ ?ปลุกพลังชีวิต พิชิตเป้าหมาย? เพื่อปลุกกระตุ้นพลังและไฟในการทำงาน รวมถึงการเสริมสร้างทัศนคติ ความรัก ความภูมิใจในองค์กร และการรวมพลังกันของพนักงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกันในอนาคต นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายได้จัดให้มีกิจกรรม CSR โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ร่วมกิจกรรมทำประโยชน์เพื่อสังคม ได้แก่ กิจกรรมบำรุงศาสนาและทำความสะอาดห้องน้ำ ณ สำนักปฏิบัติธรรมวัดคลองตาลอง และกิจกรรมทำความสะอาดสถานที่ ให้อาหารช้าง และบริจาคสิ่งของที่จำเป็น ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ ส่วนกิจกรรมในช่วงเย็น เป็นการแสดงมุทิตาจิตให้กับผู้ที่เกษียณอายุประจำปี 2563 ซึ่งปีนี้มี ผู้เกษียณอายุจำนวน 11 คน โดยเลขาธิการ คปภ. ได้มอบโล่เกียรติคุณ ของที่ระลึก และกล่าวขอบคุณแก่พนักงานเกษียณที่ได้ทุ่มเททำงานให้กับสำนักงาน คปภ. อย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด จากนั้นได้จัดกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีระหว่างพี่น้องชาว คปภ.
?การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ่านทุกมิติต้องตั้งอยู่บนรากฐานที่สำคัญ คือ การมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ บุคลากรมีศักยภาพสูง กระบวนการทำงานมีความคล่องตัว และขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไปพร้อมกับความร่วมมือ ร่วมใจ สามัคคี และความมุ่งมั่นทุ่มเทของพนักงานสำนักงาน คปภ. ทุกคน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายสูงสุด มุ่งสู่การเป็น Digital Insurance Regulator ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th