สำนักงาน คปภ. เตรียมผลักดันโปรเจ็คระบบฐานข้อมูลกลางต่อที่ประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียน เชื่อมข้อมูลประกันภัยโควิดของอาเซียนด้วยระบบเทคโนโลยีเครือข่าย เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชนชาวอาเซียน หลังจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการคลังของอาเซียนเห็นด้วยในหลักการ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากประเทศบรูไนในฐานะประธานอาเซียนได้นำเสนอประเด็นที่ต้องการเร่งผลักดันในปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ ด้านการฟื้นฟู (Recovery) ด้านการเป็นดิจิทัล (Digitalization) และด้านความยั่งยืน (sustainability) ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์อาเซียนประจำปี 2564 สำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอโครงการฐานข้อมูลกลาง COVID-19 สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน (COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN) ซึ่งเป็นแผนงานที่สอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านสารัตถะ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ได้เห็นชอบในหลักการ โดยต่อมาได้มีการเสนอประเด็นนี้ ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังของอาเซียน ซึ่งหลายประเทศแสดงความเห็นด้วย และไม่มีประเทศใดคัดค้าน โดยเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับประเด็นหลัก "ความยั่งยืน" ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอาเซียน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติม ว่าโครงการ COVID-19 Insurance Data Terminal for All ASEAN ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น platform กลาง หรือพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขออนุญาตเข้าประเทศ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย COVID-19 สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในแต่ละประเทศของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหากโครงการฯ ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยเองจะได้รับประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยอำนวย ความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอาเซียน และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและความยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการเดินทางระหว่างประเทศ และธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนจะนำไปสู่การพัฒนากรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในประเทศไทย ให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาตรฐานของอาเซียน (ASEAN Insurance Product) ที่มีมาตรฐานขั้นต่ำเป็นแนวทางเดียวกันทั้งภูมิภาคอาเซียน สำหรับโครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะแรก : ดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขออนุญาตเข้าประเทศ และหลักเกณฑ์ในการจัดทำประกันภัย COVID-19 สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัย COVID-19 ของแต่ละประเทศ พร้อมรายชื่อบริษัทประกันภัยของประเทศนั้น ๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลได้รับรองแล้วว่า สามารถเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ได้ โดยผู้เดินทางสามารถจัดหาประกันภัยได้ตั้งแต่ประเทศต้นทางหรือสามารถเลือกซื้อ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศปลายทางแล้วก็ได้ และเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ก็จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เดินทางเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยจากประเทศใด
ระยะที่สอง : ดำเนินการต่อยอดขยายขอบเขตการดำเนินการเพิ่มเติมจากระยะแรก โดยจะขยายเครือข่ายความเชื่อมโยงระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้าน COVID-19 เช่น กรมศุลกากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึง การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบริษัทประกันภัย หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย หรือ สมาคมประกันภัยของประเทศในอาเซียน โดยข้อมูลที่จัดเก็บ จะเป็นข้อมูลทางสถิติ โดยจะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้มาจะถูกนำมาวิเคราะห์และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจประกันภัยและภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย COVID-19 เพื่อเป็น ASEAN COVID-19 Insurance Product ในอนาคต ทั้งนี้ การดำเนินการในขั้นต่อไปจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เกี่ยวกับแนวคิดของโครงการและความพร้อมในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ จากนั้นจึงวางโครงสร้างรูปแบบของการสร้างพื้นที่กลางในการดำเนินการตามโครงการฯ แล้วจึงดำเนินการพัฒนา platform กลางของ ASEAN เพื่อให้ประชาชน และผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงข้อมูลการรับประกันภัย COVID-19 ของภูมิภาค ต่อไป
?สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน อาทิ แต่ละประเทศมีหลักเกณฑ์การขออนุญาตเข้าประเทศ รวมถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำประกันภัย COVID-19 ที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้เดินทางอาจไม่ทราบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หากผู้ที่เดินทางต้องการทราบว่ามีบริษัทประกันภัยใดที่มีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครอง COVID-19 ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การขออนุญาตเข้าประเทศที่ตนจะเดินทางไป การตรวจสอบลักษณะความคุ้มครองของผลิตภัณฑ์ประกันภัยในรูปแบบกระดาษ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร และเมื่อมีประกันภัย COVID-19 แล้ว กระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจะเป็นเช่นไร รวมถึงกรณีที่เกิดข้อพิพาทจากความคุ้มครองดังกล่าวในต่างประเทศ หน่วยงานกำกับดูแลจะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเข้ามาเติมเต็ม รวมถึงลดผลกระทบจาก pain point ดังที่กล่าวมา ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้นำเสนอวาระเรื่องนี้ในการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของอาเซียนในครั้งต่อไป เพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th