ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรับฟังรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ตลอดจนพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย และพิจารณาประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้บริหารและตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รายงานผลการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยในรอบครึ่งปี 2564 ได้แก่ ความคืบหน้าของการดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2563 และการดำเนินงานต่าง ๆ เพิ่มเติมในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา จากนั้นที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ปรากฏตามข่าวโซเชียล เรื่องการชักชวนให้ไปจงใจติดโควิดเพื่อเอาเงินประกัน โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องกันว่าหากไม่ดำเนินการป้องปรามจะนำไปสู่การฉ้อฉลประกันภัย และจะเกิดความเสียหายต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยที่สุจริต โดยที่ประชุมฯ เห็นสอดคล้องกับ 6 มาตรการที่สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยได้มีมติร่วมกันตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้ว ทั้งยังมีการอภิปรายและเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ อาทิเช่น ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งให้เผยแพร่ตัวอย่างผลการบังคับใช้กฎหมายให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยควรดำเนินการเอาผิด ทั้งผู้ที่กระทำความผิดและผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อจูงใจหรือยั่วยุให้ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากอยู่นอกอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันให้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ ดังนี้
1. เห็นควรให้มีมาตรการในการป้องปรามและดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อจูงใจหรือยั่วยุให้ผู้อื่นกระทำความผิด อาทิเช่น ความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการโฆษณาขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ความผิดเกี่ยวกับโรคติดต่อ โดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
2. ให้เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงตามนโยบายการรับประกันภัยของแต่ละบริษัทแก่ประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฉ้อฉลประกันภัย ทั้งนี้ หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และให้เผยแพร่ข้อมูลปรากฏต่อสาธารณชน ทั้งในส่วนของผู้ที่กระทำการฉ้อฉลประกันภัยและผู้ที่มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อจูงใจหรือยั่วยุให้ผู้อื่นกระทำการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
3. ควรเร่งบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม และ สคบ. เพื่อการป้องกันและป้องปรามพฤติการณ์การฉ้อฉลประกันภัย รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเหตุอันควรสงสัยในพฤติการณ์ดังกล่าว
?ผมเห็นว่าข้อเสนอแนะ 3 มาตรการข้างต้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเติมเต็มกลไกในการจัดการปัญหาเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยให้แข่งแกร่งยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ขอน้อมรับทุกข้อเสนอแนะ และจะขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัยในยุคโควิด-19 ให้เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th