ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ได้เป็นประธานในพิธีมอบวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับกลุ่มเปาะบางและผู้พิการทั่วประเทศ โดยมีนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย และนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย พร้อมด้วยอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (สวปส.) ตลอดจนผู้บริหารบริษัทประกันภัยและคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ร่วมส่งมอบวัคซีนซิโนฟาร์ม ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงและได้รับวัคซีนของประชาชนโดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ คนชรา ผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และกลุ่มผู้พิการ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงควรจะต้องได้รับจัดสรรเป็นกลุ่มแรก ๆ และประสงค์ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน เนื่องจากกลุ่มผู้พิการและกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายและอาจมีอาการที่รุนแรง รวมทั้งมีอัตราการเสียชีวิตสูง จึงควรเร่งให้เข้าถึงและได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับบุคคลและภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วย ?ลดป่วยรุนแรง ลดตาย รักษาหายเร็ว? โดยบูรณาการความร่วมมือกับสมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (สวปส.) ภาคธุรกิจประกันภัย รวมทั้งพนักงานในองค์กรของสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคระดมเงินบริจาค ในการจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ?ซิโนฟาร์ม? จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 10,000 ราย (20,000 โดส) เพื่อจัดสรรให้กับประชาชนกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบางยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบางสำหรับการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งการจัดหาสถานที่และบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการฉีดวัคซีนกว่า 30 แห่งใน 18 จังหวัด ภายใต้โครงการความร่วมมือ ?ประกันภัยรวมใจมอบวัคซีนต้านโควิดสู่ประชาชน? ทั้งนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว จำนวน 7,196 คน คิดเป็นร้อยละ 71.96 โดยได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเปราะบางวันแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา และในวันนี้ได้มีกลุ่มเปราะบางประมาณ 60 คน มารับวัคซีนเข็มแรกที่สำนักงาน คปภ. โดยมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์มาบริการฉีดวัคซีน สำหรับการฉีดวัคซีนส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีแผนฉีดวัคซีนแล้วเสร็จในต้นเดือนตุลาคม 2564 นอกจากนี้ เงินบริจาคส่วนที่เหลือจะนำไปจัดสร้างห้อง Negative Pressure เพื่อมอบให้โรงพยาบาลกุยบุรี และโรงพยาบาลที่ประจวบคีรีขันธ์
?โครงการนี้สามารถระดมเงินบริจาคและวัคซีน รวมทั้งบริหารจัดการหากลุ่มเป้าหมายและจัดฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้เวลาดำเนินการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเพราะได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเทสรรพกำลังในการดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เป็นช่องทางให้เราได้ร่วมกันบริจาควัคซีน รวมทั้งสมาคมศิษย์เก่าสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง (สวปส.) ภาคธุรกิจประกันภัย และพนักงานของสำนักงาน คปภ. ที่ร่วมแรงร่วมใจบริจาคเงินเพื่อจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย นำไปสู่การแบ่งปันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้พิการ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ และเป็นที่ชัดเจนว่าวัคซีนคือทางออกที่จะทำให้กลับมาใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ได้ และช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อระหว่างที่รอวัคซีนที่ภาครัฐจัดหากำลังทยอยเข้ามา แต่ยังมีประชาชนหลายกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ จึงหวังว่าโครงการนี้จะช่วยจุดประกายให้ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่มีศักยภาพช่วยจัดหาวัคซีนทางเลือกเพื่อมาฉีดให้กับประชาชนกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ และเมื่อประชาชนทั่วประเทศได้รับวัคซีนครบถ้วน ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้กับประเทศไทยสามารถก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปได้? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th