เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจำนวน 6 ราย และผู้สูญหาย 10 ราย ในจำนวน 23 ราย ทำประกันภัย 7 บริษัท รวมค่าสินไหมทดแทน กว่า 10 ล้านบาท
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณี ?เรือหลวงสุโขทัย? ประสบเหตุน้ำเข้าเรือเนื่องจากคลื่นลมแรง ขณะทำการลาดตระเวนอยู่บริเวณแบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีน้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือจนเครื่องไฟฟ้าดับ เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ จนทำให้เรือเอียงและอับปางลงใต้ทะเล ส่งผลทำให้มีผู้ประสบเหตุในครั้งนี้จำนวน 105 ราย โดยได้รับการช่วยเหลือแล้ว 76 ราย สูญหายอยู่ระหว่างการค้นหาเพื่อช่วยเหลือจำนวน 23 ราย และเสียชีวิต 6 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 นั้น ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) สำนักงาน คปภ. จังหวัดชลบุรี และ สำนักงาน คปภ. จังหวัดระยอง ลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือด้านประกันภัย ?ทันที? เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยกองทัพเรือได้จัดตั้งศูนย์ให้การช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ณ กองเรือยุทธการ อำเภอสัต**บ จังหวัดชลบุรี โดยเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ได้อำนวยความสะดวกตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัย ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ให้คำแนะนำแก่ผู้ประสบภัยและญาติของผู้ประสบภัย รวมทั้งประสานบริษัทประกันภัยเพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นพบว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 6 ราย มีการทำประกันภัยไว้ จำนวน 2 ราย และในจำนวนผู้สูญหาย 23 ราย มีการทำประกันภัยไว้ จำนวน 10 ราย จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 10,321,592 บาท โดยทำประกันภัยไว้กับ 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอไอเอ จำกัด
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้ประสบภัยในครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่
หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ
?สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้ประสบภัยในครั้งนี้และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอาชีพ และกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่อาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนควรตรวจความพร้อมของสภาพร่างกาย ตรวจความพร้อมของสภาพรถ ตรวจความพร้อมของประกันภัย พ.ร.บ. และประกันภัยภาคสมัครใจ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th