ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีการปรับตัวให้เข้าสู่ยุค Next Normal อย่างต่อเนื่องด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการทั้งด้านการกำกับและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้มีความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์และการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมกับตนเองและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงได้พัฒนาและต่อยอดเว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัยภายใต้ชื่อ ?กูรูประกันภัย? (https://guruprakanphai.oic.or.th) เพื่อรองรับสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้าถึงผู้เอาประกันภัยผ่านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัยและธนาคารที่ทำการเสนอขายประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Online) ต้องขึ้นทะเบียนกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบสารสนเทศมีความมั่นคงปลอดภัย และต่อมาได้พัฒนาระบบเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ขายกรมธรรม์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบค้นหาและเปรียบเทียบแบบประกันภัย และระบบการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยและการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์และเกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการทำธุรกรรมประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเว็บไซต์กูรูประกันภัย นอกจากประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการผ่านทาง https://guruprakanphai.oic.or.th แล้ว ยังสามารถเข้าไปใช้บริการผ่านทางเว็บไซต์ https://www.oic.or.th/th/consumer โดยกด link เข้าไปใน banner กูรูประกันภัยได้อีกทาง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งนับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีประชาชนเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์กูรูประกันภัยแล้ว จำนวนกว่า 179,082 ครั้ง
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เว็บไซต์กูรูประกันภัย ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลการเปรียบเทียบ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 ระบบ คือ ระบบแรก ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ขายกรมธรรม์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย และธนาคาร ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศสำนักงาน คปภ. ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
ระบบที่ 2 ประชาชนผู้เอาประกันภัยสามารถค้นหาและเปรียบเทียบแบบประกันภัย เพื่อส่งเสริมกลไกทางการตลาด การแข่งขันทางด้านราคา และเป็นการให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่สนใจได้รับข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เบี้ยประกันภัย เงื่อนไขการประกันภัย และข้อยกเว้น โดยปัจจุบันระบบเปรียบเทียบของเว็บไซต์นี้ สามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัย ประกอบด้วย ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยการเดินทาง และประกันชีวิต โดยผู้สนใจสามารถกำหนดปัจจัยในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้ เพื่อให้ตรงความต้องการของตนเอง
ระบบที่ 3 ระบบการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ และการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากการจัดทำเว็บไซต์กูรูประกันภัยแล้ว สำนักงาน คปภ. ยังได้จัดทำ OIC Gateway ซึ่งเป็นระบบให้ผู้เอาประกันภัยสามารถมาตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยซื้อ เช่น เลขที่กรมธรรม์ประกันภัย บริษัทที่รับประกันภัย ระยะเวลาคุ้มครอง และข้อมูลความคุ้มครองเบื้องต้น และปัจจุบันระบบดังกล่าวยังได้มีการพัฒนา เพื่อเพิ่มความสามารถสามารถในการแสดงข้อมูลให้ผู้เอาประกันภัยทราบมากขึ้น เช่น สรุปจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งหมด สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
?สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมกับความเสี่ยง โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการให้บริการประชาชนด้านประกันภัยอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนประชาชนที่มีความสนใจจะเลือกผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระเบี้ยและความต้องการที่แท้จริง สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์กูรูประกันภัยเพื่อศึกษาข้อมูลก่อนการพิจารณาตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ประกันภัย? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.oic.or.th