คปภ. เผย 4 ประเด็น..! ความแตกต่างของกรมธรรม์ประกันภัย “รถยนต์ไฟฟ้า-รถยนต์สันดาป”

ข่าวทั่วไป Monday February 5, 2024 14:43 —คปภ.

คปภ. เผย 4 ประเด็น..! ความแตกต่างของกรมธรรม์ประกันภัย ?รถยนต์ไฟฟ้า-รถยนต์สันดาป?

แนะประชาชนควรศึกษารายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองก่อนซื้อกรมธรรม์ พร้อมติวเข้มบริษัทประกันภัยเตรียมความพร้อมทุกมิติเพื่อลดข้อพิพาท

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานการประชุมชี้แจง ?กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า : Battery Electric Vehicle (BEV)? ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบนโยบายการกำกับการปฏิบัติงานตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า : Battery Electric Vehicle (BEV) และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติให้กับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทประกันวินาศภัย ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 โดยเลขาธิการ คปภ. กล่าวมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า จากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก โดยก่อนหน้าที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับปัจจุบันจะมีผลบังคับใช้นั้น การทำประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นการนำกรมธรรม์และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของรถยนต์สันดาปมาใช้ ซึ่งความคุ้มครองอาจไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยของรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไหล่ หรือระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงเกินกว่า 50% ของมูลค่ารถยนต์ รวมถึงมีระบบปฏิบัติการ (Software) ที่เชื่อมโยงกับระบบการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของรถด้วย

สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับคณะกรรมการยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนภาคธุรกิจ จัดทำแบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องและเหมาะกับลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้า และมีอัตราเบี้ยประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง ซึ่งกรมธรรม์ฉบับนี้จะมีส่วนที่ต่างจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สันดาป มี 4 ประเด็นหลัก ๆ คือ ประเด็นแรก กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้สามารถกำหนดเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับพฤติกรรมและความสามารถของผู้ขับขี่มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมจากประวัติการเคลมได้อีกสูงสุดร้อยละ 40 ถ้าผู้ขับขี่รถดีไม่มีอุบัติเหตุจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยมากขึ้น โดยได้กำหนดปัจจัยพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นระดับความเสี่ยง 5 ระดับ ซึ่งผู้ขับขี่จะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย และจะทำให้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้ขับขี่แต่ละรายได้

ประเด็นที่ 2 การให้ความคุ้มครองแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยนี้กำหนดให้ความคุ้มครองของแบตเตอรี่รวมอยู่กับตัวรถยนต์ แต่เนื่องจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีมูลค่าสูง เกินกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่ารถยนต์ จึงต้องมีการกำหนดมูลค่าของค่าเสื่อมให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงได้มีการปรับอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเทียบเคียงกับมูลค่าของรถยนต์สันดาปไปก่อน ซึ่งกำหนดมูลค่าของค่าเสื่อมในอัตราเฉลี่ยปีละ 10% จนถึงปีที่ 5 เป็นต้นไปที่จะมีค่าเสื่อมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าคงที่ ที่ 50% รวมถึงได้มีการจัดทำ เอกสารแนบท้ายความคุ้มครองความเสียหายต่อแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแบบชดใช้ของใหม่ทดแทนของเดิม หรือแบบ Replacement เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ต้องการซื้อความคุ้มครองเพื่อให้บริษัทชดใช้ความเสียหายของแบตเตอรี่โดยการเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ใหม่

ประเด็นที่ 3 การให้ความคุ้มครองต่อระบบปฏิบัติการรถยนต์ไฟฟ้านั้น ประกอบด้วยระบบไฟฟ้าที่ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น การซ่อมแซมหรือดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องกระทำการโดยช่างของผู้ผลิตรถยนต์ ผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า หรือช่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการซ่อมจากหน่วยงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือช่างที่ได้รับความยินยอมจากบริษัทเท่านั้น

ในกรณีระบบปฏิบัติการของรถมีการทำงานบกพร่อง ผิดพลาดทำให้รถเกิดอุบัติเหตุ มีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอก หรือต่อรถยนต์ ความรับผิดชอบส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ผลิตรถยนต์หรือผู้ที่กระทำการดัดแปลงแก้ไขระบบปฏิบัติงาน แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้ความคุ้มครอง กรมธรรม์ประกันภัยนี้จะกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทต้องให้ความคุ้มครองก่อน แต่ให้บริษัทสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกคืนความเสียหายนั้นจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือผู้ที่ต้องรับผิดต่อไปได้

และประเด็นที่ 4 การกำหนดพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย ซึ่งเบี้ยประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยนั้นจะสูงกว่าอัตราเบี้ยประกันภัยของรถยนต์สันดาปโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-15 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าแรง ค่าอะไหล่ ของรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถยนต์สันดาป แต่ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีรวมถึงผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานที่มีความรู้ความสามารถในด้านการผลิตและการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอาจส่งผลให้อัตราเบี้ยประกันภัยลดลงได้ในอนาคต เนื่องจากไม่ต้องนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอีกต่อไป

?สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้านี้ จะเป็นสัญญาณให้บริษัทประกันภัยเกิดความตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยงของการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้บริษัทประกันภัยมีการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ความพร้อมของบุคลากรในด้านต่าง ๆ เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือการรับเรื่องร้องเรียน และการป้องกันการฉ้อฉล รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ในด้านของเทคโนโลยีและระบบงานต่าง ๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และในฝั่งของประชาชน

ก็ควรศึกษารายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองก่อนซื้อกรมธรรม์เพื่อลดข้อพิพาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. หวังว่าผลิตภัณฑ์ประกันภัยนี้จะช่วยเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาชนสามารถใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางได้อย่างปลอดภัย และมั่นใจมากขึ้น? เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ